เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
บล็อกนี้ เป็นบล็อกสำหรับทุกคนที่ต้องการรับรู้ถึงสังคมปัจจุบันว่ากำลังดำเนินไปในทิศทางใดและสังเกตุพฤติกรรมของมุสลิมในสังคมว่ามีสภาพว่าเป็นอย่างไร พร้อมกันนี้เพื่อนอิสลามจะคอยเป็นเพื่อนกับทุกท่านที่เข้ามาเยื่ยมชม ซึ่งสิ่งที่เราต้องการ คือ เป็นเพื่อนในอิิสลามของคุณตลอดไป และถ้าหากเห็นว่าบล็อกนี้มีประโยชน์ช่วยเม้นให้ด้วยนะ หรือ ถ้าหากจะต้องการเนื้อหาอะไรก็โพสได้นะครับ ยินดีเสมอครับ

วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประวัติ มูฮัมมัด บินอับดุลวาฮาบ

1.1  สภาพสังคมอาหรับในสมัย มูฮัมมัด  อิบนุ  อับดุลวาฮาบ
ในตอนต้นของศตวรรษที่สิบสอง  ฮ.ศ.หรือปลายศตวรรษที่สิบเจ็ด เป็นยุคที่กงล้อประวัติศาสตร์ของโลกมุสลิมหมุนย้อนกลับสู่อนารยธรรม  หลังจากเฟื่องฟูอยู่นานภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมานที่มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่ตุรกี  ถึงแม้ว่าสมัยนั้นยังไม่หมดยุคของออตโตมาน กระนั้นอำนาจของผู้ปกครองชาวเติร์กก็แทบจะไม่เหลือพอให้เชิดคอแสดงศักยภาพเหมือนเช่นในอดีตอีกต่อไป
ในช่วงที่ผู้ปกครองอ่อนแอเช่นนี้  ความตกต่ำในแทบทุกด้านทุกระดับชั้นในสังคมอาหรับและมุสลิมได้กลายเป็นสิ่งที่สลัดทิ้งไม่พ้น  เริ่มตั้งแต่เรื่องอำนาจการบริหารปกครอง  ความสามัคคีปรองดองของหมู่มุสลิม  ศีลธรรมและมนุษยธรรมในสังคม  และสิ่งที่ดูจะย่ำแย่ที่สุดคือการดำเนินชีวิตอยู่ในกรอบของศาสนาซึ่งตกต่ำถึงระดับขีดสุดโดยเฉพาะแคว้นอัน-นัจญด  ซึ่งเป็นดินแดนบ้านเกิดของมูฮัมมัด  อิบนุ  อับดุลวาฮาบ  และเป็นหัวใจของคาบสมุทรอารเบียอย่างน้อยที่สุดที่พอจะอธิบายได้ก็คือ  ชาวนัจญดฺได้ตกต่ำทางศีลธรรม  จนเลยเถิดไม่มีเกณฑ์ความดีความชั่วในสำนึกของพวกเขา  จะมีก็แต่ความเชื่องมงายเรื่องการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์จอมปลอมซึ่งขัดกับคำสอนในศาสนาอย่างชัดเจน  แต่กลับถูกปลูกฝังอยู่ในใจมายาวนานเป็นศตวรรษ  จนกระทั่งผู้คนส่วนใหญ่ได้คิดว่าพิธีกรรมเหล่านั้นคือวิถีทางแห่งศาสนาที่ถูกต้อง  และไม่เคยเตรียมตัวเตรียมใจที่จะเลิกปฏิบัติสิ่งที่พวกเขารับมาจากปู่ย่าตายายโดยไม่ได้คำนึงว่าจะถูกผิดหรือไม่เช่นใด
ผู้คนต่างก็รู้จักการกราบไหว้ขอพรจากสุสาน  มีสถูปมากมายผุดขึ้นให้ผู้คนได้ไปเคารพ  ความงมงายในเรื่องบูชาเช่นนี้เป็นสิ่งปกติที่เห็นได้ทั่งไปในสมัยนั้น    แม้กระทั่งการบูชาและบนบานต้นไม้เก่าแก่เพื่อขอให้กำเนิดบุตร  และยังมีถ้ำบนสุสานอีกแห่งหนึ่งที่เมือง  อัด-ดุรฺอียะฮฺ  ซึ่งกลายเป็นสถานที่ของการปฏิบัติพิธีกรรม  (ด้วยการผิดประเวณี)อันน่าอดสูที่สุด  ทั้งหมดนี้ได้ใช้ชื่อของศาสนาเป็นป้าย  น่าเสียใจที่เหล่าผู้รู้ทั้งหลายถึงแม้จะมีความรู้เรื่องศาสนบัญญัติเพียงใด  แต่จำนวนของพวกเขาไม่กี่คนไม่มีพลังพอที่จะทำหน้าที่เรียกร้องให้ผู้คนกลับเข้าหาความดีงามของศาสนาและห้ามปรามพวกเขาจากการประพฤติสิ่งผิดบาปเหล่านั้นได้

1.2  ประวัติย่อของมูฮัมหมัด  บิน  อับดุลวะฮาบ
                ในปีค.ศ.1703  ได้มีบุคคลหนึ่งถือกำเนิดขึ้นมาในเมืองนัจญฺแห่งคาบสมุทรอารเบีย  เขาเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นผู้รอบรู้และทรงคุณธรรมอย่างยิ่งคนหนึ่ง  เขาชื่อว่า มูฮัมหมัด  บินอับดุลวาฮาบ
                มูฮัมหมัด  บินอับดุลวาฮาบเป็นคนเฉลียวลาดมาตั้งแต่เด็ก  และเมื่อเขาย่างเข้าสู่วัยรุ่นก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ขั้นปราชญ์ของคาบสมุทรอารเบีย
                มูฮัมหมัด บินอับดุลวาฮาบเป็นผู้ก่อตั้งการเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูหลักการศาสนาที่ถูกต้อง(มักเรียกกันว่า วะฮาบี”) ในขณะนั้น เขตพื้นที่ของฮิญาซรวมทั้งมักกะฮ์และมาดีนะฮ์อยู่ภายใต้การปกครองของผู้มีเกียรติหรือผู้มีชื่อเสียงของมักกะฮฺ เขาเล่าเรียนวิชาพื้นฐานทางศาสนาจากพ่อของเขาที่ชื่อว่า อับดุลวะฮาบซึ่งเป็นอุลามาอะฮฺลิซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺตามแนวทางคอลัฟคนหนึ่ง ดังนั้นการเรียกกลุ่มแนวคิดของเขาว่า วะฮาบียะฮ์จึงถือเรียกผิดเพราะอับดุลวาฮาบ พ่อของเขาเป็นอุลามาอะฮฺลิซซุนนะฮฺวัลญามาอะฮฺแนวคอลัฟ เขาไม่ได้มีแนวคิดเช่นเดียวกับมูฮัมมัด บินอับดุลวาฮาบในการเทิดทูนชาวสะลัฟแต่อย่างใด
                นอกจากนั้นแล้วพี่ชายของเขาคนหนึ่งที่ชื่อ  สุไลมาน  บินอับดุลวาฮาบก็เป็นอุลามาอะฮฺ
ลิซซุนนะฮฺวัลญามาอะฮฺแนวคอลัฟอีกเช่นกัน 
                ในวัยหนุ่ม  มูฮัมหมัด  บินอับดุลวาฮาบ  ได้เดินทางไปทำฮัจญ์แล้วก็เลยไปเยี่ยมสุสานของท่านนบีมูฮัมหมัด  ศ็อลฯ  ที่มาดีนะฮ์ด้วย  หลังจากที่ได้ทำฮัจญ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ได้เดินทางกลับเมืองนัจญฺ
                ดังกล่าวนี้ต่างกันกับมูฮัมหมัด  อับดุฮฺ  กล่าวคือตั้งแต่วัยหนุ่มจนกระทั่งเสียชีวิต มูฮัมหมัด  อับดุฮฺ ไม่เคยไปทำฮัจญฺเลยทั้ง ๆ  ที่เขาอยู่ในข่ายผู้ที่มีความสามารถทำฮัจญฺได้ก็ตาม          หลังจากนั้น มูฮัมหมัด  บินอับดุลวาฮาบก็กลับมายังนครมักกะฮ์อีกเพื่อมาศึกษาเล่าเรียน  ฉะนั้นเขาจึงใช้ชีวิตส่วนหนึ่งที่มักกะฮ์และมาดีนะฮ์ในฐานะเป็นนักเรียน
                ในการกลับมาของเขาครั้งนี้เขาเกิดประทับใจหนังสือของอิบนุ  ตัยมียะฮฺที่ห้ามขอดุอาโดยผ่านสื่อ ห้ามไปเยี่ยมหลุมฝังศพไม่ว่าจะเป็นหลุมฝังศพของท่านนบีหรืออุลามาอฺก็ตาม  นอกจากนั้นแล้วเขายังทึ่งต่อทัศนะของอิบนุ  ตัยมียะฮฺในการกล่าวถึงคุณลักษณะและกิริยาอาการของอัลลอฮฺที่คล้ายกับของมนุษย์เช่นอัลลอฮฺทรงประทับบนอะรัช อัลลอฮฺทรงอยู่เบื้องบน อัลลอฮฺทรงถลกหน้าแข้งของพระองค์ในวันกิยามะฮฺ ฯลฯ นับจากนั้นเป็นต้นมา  เขาจึงกลายเป็นผู้ที่ชื่นชมอิบนุ  ตัยมียะฮฺ อย่างจริงจัง
                มูฮัมหมัด  บินอับดุลวาฮาบ สังเกตว่าการปฏิบัติศาสนกิจของประชาชาติอิสลามเป็นจำนวนมากที่อยู่นครมาดีนะฮฺ ขัดต่อซุนนะฮฺตามมุมมองของอิบนุ  ตัยมียะฮฺ  เช่น  การเกาะกลุ่มทยอยเดินไปยังมาดีนะฮฺเพื่อไปเยี่ยมสุสานของท่านนบีมูฮัมมัด  ศ็อลฯ  สุสานของท่านฮัมซะฮฺที่อุฮุดและสุสานของท่านหญิงคอดีญะฮฺ ที่มะอฺลา  การกล่าวศอลาวาตนบีเสียงดังเป็นกลุ่ม เป็นต้น การกระทำแบบนี้เขาถือว่าเป็นบิดอะฮฺ (อุตริกรรม) ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่เขารู้สึกชิงชังมากก็คือ  เมื่อมีผู้หนึ่งผู้ใดขอดุอาอฺต่อหน้าสุสานของท่านนบีที่มัสยิดมาดีนะฮฺโดยหันหน้าไปทางสุสานของท่านนบี ไม่ใช่ทิศทางกิบละฮฺ  เขาถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็น ชิรกฺ (การตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ)    หรือหากมีผู้ใดกล่าวว่า  โอ้รอซุลุลลอฮฺ”  ต่อหน้าสุสานของท่านนบี  ก็ถือว่าชิรกฺอีกเช่นกัน
                เขารู้สึกโกรธเมื่อเห็นการกระทำต่าง ๆ  ของประชาชาติอิสลามในขณะนั้นมาก  ดังนั้นเขาจึงได้เดินทางกลับไปยังหมู่บ้านอุยัยนะฮฺซึ่งเป็นบ้านเกิด  และจัดการเรียนการสอนขึ้นโดยออกคำฟัตวา(คำตัดสินชี้ขาดในปัญหาศาสนา)ว่าการไปเยี่ยมเยียนสุสานของท่านนบีนั้นเป็นการกระทำที่ชั่วช้า  สมาชิกในหมู่บ้านต่างก็ไม่ยอมรับในฟัตวาของเขาดังนั้นเขาจึงถูกอุสมาน  บินอะหฺหมัด  ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจคนหนึ่งในหมู่บ้านขับออกจากหมู่บ้าน
                เขาถูกขับออกจากหมู่บ้านอุยัยนะฮฺโดยที่ไม่มีทรัพย์สินเงินทองติดตัวเลยแม้แต่น้อย  ยิ่งกว่านั้นยังถูกลอบฆ่าระหว่างทางอีกด้วย  ทว่าเขารอดตายมาได้ด้วยลิขิตของอัลลอฮฺ เขาจึงเดินทางไปยังเมืองบัสเราะฮฺในอิรัก
                เมื่อไปถึงบัสเราะฮฺ เขาก็ยังคงชี้ขาดเช่นเดิม  จนในที่สุดก็ถูกขับไล่ออกจากบัสเราะห์อีก  เขาตั้งใจจะเดินทางต่อไปยังแบกแดดและซีเรีย  แต่เขาไม่มีค่าเดินทางจึงเดินทางไปได้เพียงแค่อัซซา  ซึ่งอยู่ห่างจากบัสเราะฮฺไม่ไกลนัก
                ในระยะแรก ๆ เขาได้ขอความคุ้มครองจากผู้นำในอัซซาที่ชื่อ อับดุลเลาะฮฺ  บินอับดุลลาตีฟ  แต่ภายหลังผู้นำคนนี้ก็ได้ขับไล่มูฮัมมัด  บิน อับดุลวาฮาบอีกเพราะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของมูฮัมมัด  บินอับดุลวาฮาบ 
                สรุปว่า  ไม่ว่าเขาจะย่างกรายไปที่ตามใดก็ตาม เขาก็ถูกขับไล่ไสส่งเสมอ ด้วยเหตุอันเนื่องมาจากฟัตวาของเขายังหาผู้ยอมรับไม่ได้  พร้อมทั้งยังขัดต่อฟัตวาของอุลามาที่เป็นที่ยอมรับของผู้คนในขณะนั้น พี่ชายของเขาเองชื่อ  สุไลมาน  บิน  อับดุลวาฮาบก็เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า  อัซ-ศอวาอิกุล  มุหฺรีเกาะฮฺ  ฟิรร็อดดิ  อะลัลวะฮาบียะฮฺ เพื่อต่อต้านฟัตวาเขาหลายกรณีด้วยกัน
                หลังจากนั้นมูฮัมมัด  บิน  อับดุลวาฮาบ  ก็ได้ย้ายไปยังแคว้นดุรอียะฮฺ มีผู้ครองแคว้นชื่อว่า  มุฮัมมัด  บิน  สะอูด ดังนั้น  เขาทั้งสองก็ได้พบปะกันที่ดุรอียะฮฺ และประสานความร่วมมือระหว่างกัน เพราะมูฮัมมัด  บิน อับดุลวาฮาบต้องการความช่วยเหลือจากผู้มีอำนาจเพื่อปกป้องการเผยแผ่แนวคิดของตน  เขาเบื่อหน่ายต่อการถูกขับไล่และติดตามจากผู้ครองแคว้นที่เขาเคยพำนักอยู่
                ส่วนพระราชามุฮัมมัด  บิน  สะอูด  เองก็ต้องการอุมาลาอฺที่สามารถป้อนความรู้ความเข้าใจในเรื่องศาสนาให้แก่ประชาชนของเขาเพื่อความมั่นคงจะได้เกิดแก่ราชบัลลังก์ของเขา นับจากนั้นเป็นต้นมาก็เกิดความเป็นปึกแผ่นนี้ระหว่างแนวคิดวะฮาบีย์กับอำนาจของราชวงศ์ซาอุดี
มูฮัมมัด  บิน  อับดุลวาฮาบมีอิสระอย่างเต็มที่ในการเผยแผ่แนวคิดของเขา  อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจในพื้นที่อีกด้วย  จนในที่สุดเขามีลูกศิษย์มากมายทั้งในดุรอียะฮฺและเขตพื้นที่ใกล้เคียง
1.3  ความช่วยเหลือของ มุฮัมมัด อิบนุ สุอูด
                หลังจากออกจาก อัล-อุยัยนะฮฺ ท่านได้เดินทางไปยัง อัด-ดุรอียะฮฺ โดยพำนักอยู่ที่บ้านศิษย์ของท่านที่ชื่อว่า อะหมัด บินสุวัยลิม แต่ครั้นเมื่อ มุฮัมมัด บินสุอูด ทราบข่าวว่าท่านมาถึงที่นี่จึงได้ไปหาท่านเองถือที่พักพร้อมกับน้องของท่านสองคนคือ มะชารีย์ และซุนัยยาน ด้วยอุปนิสัยที่รักในความรู้และชมชอบอุละมาอฺ มุฮัมมัด บินสุอูด จึงได้ต้อนรับมุฮัมมัดบินอับดุลวะฮาบ ยกย่องให้เกียรติท่านเป็นอย่างดี
                มุฮัมมัด บิน อับดุลวะฮาบ ได้เสนอและกล่าวเทศนาถึงหลักศาสนาต่างๆที่ท่านเผยแพร่นั่นคือ ความหมายของคำปฏิญาณตนของผู้เป็นมุสลิม ภาระหน้าที่ในการสนับสนุนความดีและยับยั้งความชั่ว รวมถึงการ ญิฮาด ในหนทางของอัลลอฮฺ เป็นผลให้ มุฮัมมัด บินสุอูด ยอมรับและได้กล่าวแก่ท่านว่า
ท่านผู้อาวุโสแท้จริงแล้วนี่คือศาสนาของอัลลอฮฺและศาสนฑูตของพระองค์ โดยไม่ต้องสงสัยอีกเลย และจงเชื่อมั่นเถิดว่าเราจะช่วยท่านในสิ่งที่ท่านสั่งและการญิฮาดกับผู้คนที่ฝ่าฝืนต่อหลักความเชื่อในความเป็นหนึ่งเดียงได้ลุกขึ้นมาช่วยท่านด้วยการญิฮาดในหนทางแห่งอัลลอฮฺแล้ว พระองค์ก็เปิดดินแดนต่างๆ ให้ เรากลัวว่าท่านจะจากเราและไปหาผู้อื่น สอง ในเมืองนี้เรามีกฎอยู่ข้อหนึ่งที่เราใช้เก็บภาษีเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว เรากลัวว่าท่านจะกล่าวกับเราว่าอย่าได้เอาอะไรไปจากพวกเขา

                ท่าน มุฮัมมัด บิน อับดุลวะฮาบ จึงได้กล่าวตอบว่า
ประการเเรกที่ท่านกล่าวนั้น จงเอามือของท่านมา เพราะเราสัญญาว่าจะอยู่กับท่าน และร่วมเป็นร่วมตายกับท่าน ส่วนประการที่สองนั้น เราหวังว่า อัลลอฮฺจะทรงเปิดดินแดนต่างๆ ให้และพระองค์จะทรงทดแทนท่านด้วยทรัพย์สินจากการญิฮาดซึ่งดีกว่าที่ท่านร้องขอ

                เวลานั้น มุฮัมมัด บิน สุอูด จึงได้จับมือพร้อมให้สัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือในการกิจการเผยแพร่เชิญชวน และได้แสดงความพร้อมที่จะปฏิบัติตามแนวทางของอัลกุรอานและวิถีทางของท่านนบี ศ็อลฯ  อันเป็นหลักคำสอนของอิสลามดั้งเดิม นับแต่นั้นมาผู้คนในเมือง อัด-ดุรอียะฮฺ จึงได้หลั่งไหลมาศึกษาอิสลามกับ มุฮัมมัด อิบนุ อับดุลวะฮาบ ไม่เว้นแม้แต่บรรดาศิษย์และญาติมิตรของท่านจากเมือง อัล-อุยัยนะฮฺ ของอุษมาน บินมุอัมมัร

1.4  การแพร่ขยายและการต่อต้าน
                ด้วยฐานความช่วยเหลือที่มั่นคงใน อัด-ดุรอียะฮฺ ทำให้การเผยแพร่ของมูฮัมมัด บิน อับดุลวะฮาบ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผู้คนจากทั่วเมือง ในแคว้น อัน-นัจญฺด ต่างเดินทางมาเพื่อศึกษากับท่านและได้ร่วมนำคำสอนที่ศึกษามาไปเผยเเพร่ จนเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวาง การขยายตัวของการเผยแพร่ทำให้เกิดปฏิกิริยาทั้งตอบรับ และต่อต้านจากผู้คนในหลายเมือง มูฮัมมัด บินอับดุลวะฮาบ เองได้ส่งหนังสือไปยังเจ้าเมืองต่างๆ รวมทั้งบรรดาอุละมาอฺ ทั้งหลายเพื่อชี้แจงให้เห็นถึงสิ่งที่ท่านได้เชิญชวนและเรียกร้องให้ตอบรับการเชิญชวนของท่านผลที่ได้รับกลับมาส่วนใหญ่เป็นเสียงเหยียดหยัน และกล่าวหาว่าร้ายต่างๆ นานา การต่อต้านมิได้จำกัดเฉพาะที่ตัวของมูฮัมมัด บินอับดุลวะฮาบเองเท่านั้น แต่ยังรวมทั้งบรรดาศิษย์ของท่านเเละชาวเมืองอีกด้วย
                นอกจากนี้ ดะฮฺฮาม บินเดาวาส ซึ่งปกครองเมืองริยาด ได้ทำร้ายและย่ำยีลูกศิษย์ของท่านโดยไม่มีความผิดนอกเสียจากเพราะพวกเขาเป็นผู้เลื่อมใสและยอมรับการเชิญชวนของท่านเท่านั้น เหตุการณ์นี้เป็นชนวนให้เกิดการรบขึ้นมาต่อสู้กับริยาด โดยสงครามได้ดำเนินอยู่นานหลายปี จนกระทั่ง ดะฮฺฮามได้หลบหนีออกจากริยาดจึงได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของครอบครัวมูฮัมมัด บิน สุอูด ผู้ซึ่งเป็นต้นตระกูลของราชวงศ์ซาอุดีนั่นเอง
               
1.5  อิทธิพลและการแพร่หลายของวะฮาบียะฮต่อโลกมุสลิม
                ภายใต้การอุปถัมภ์ของราชวงศ์สะอูดีทำให้แนวคิดวะฮาบียะฮฺแพร่หลายในซาอุดิอารเบีย  โดยเฉพาะภายหลังการสถาปนาราชอาณาจักรโดยกษัตริย์อับดุลอาซีซ  อิบนุอับดุลรอหฺมาน  อาลิสะอูด  ในปี  ฮ.ศ.  1351(ค.ศ.1930)  และต่อมาวะฮาบียะฮฺได้แพร่หลายอย่างรวดเร็วไปยังกลุ่มประเทศต่าง ๆ  ในโลกมุสลิมผ่านทางคณะต่าง ๆ  ที่เดินทางเข้ามาเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์และอุมเราะฮฺ  รวมทั้งนักศึกษาที่เข้ามาศึกษาในมัสญิดหะรอมทั้งสองแห่งที่นครมักกะฮฺและนครมาดีนะฮฺ  และที่เข้ามาศึกษาในโรงเรียน มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาอื่น  ๆ  ในซาอุดิอารเบียและประเทศใกล้เคียง  ปัจจุบันรัฐบาลซาอุดิอารเบียให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนมุสลิมทั่งโลกเป็นจำนวนมากเพื่อเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยที่สอนเกี่ยวกับอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับทั้งในปริญญาตรี  ปริญญาโท  และปริญญาเอก  บัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ในทุกส่วนของโลกเพื่อทำหน้าที่อบรมสั่งสอนจริยธรรมอิสลามและเรียกร้องเชิญชวนสู่อิสลาม นอกเหนือจากนั้นแล้วรัฐบาลซาอุดิอารเบียยังได้สนับสนุนงานด้านสังคมสงเคราะห์  การเผยแผ่อิสลามในรูปแบบต่าง ๆ   มุสลิมทั่วโลกอีกด้วย  อาทิ  การสร้างมัสญิดและสถาบันการศึกษา  การจัดอบรมภาษาอาหรับและวิทยาการอิสลาม  การพิมพ์  อัลกุรอานและความหมายอัลกุรอานเป็นภาษาต่าง ๆ  กว่า  150  ภาษา(รวมทั้งภาษาไทย)  และการช่วยเหลือสงเคราะห์คนยากจนและผู้ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ  เป็นต้น  ดังกล่าวมานี้แสดงให้เห็นถึงการแผ่ขยายของวะฮาบียะฮฺภายใต้การสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาลของซาอุดิอารเบีย  สำหรับอิทธิพลของวะฮาบียะฮฺนั้นอาจกล่าวได้ว่า  วะฮาบียะฮฺหรือสะลาฟียะฮฺในชื่อทางวิชาการได้มีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อการฟื้นฟูอิสลามและการปฏิรูปสังคม ขบวนการฟื้นฟูอิสลามที่เกิดขึ้นในระยะหลังในอัฟริกา  อียิปต์  และชมพูทวีปล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลจากแนววะฮาบียะฮฺด้วยกันทั้งสิ้น
               
1.6  อิทธิพลของแนวคิดวะฮาบียะฮฺด้านการศึกษา
                สิ่งหนึ่งที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนที่มีอิทธิพลด้านการศึกษานั่นคือ มีการเรียนการสอนหนังสือว่าด้วยหลักการให้เอกภาพต่อพระเจ้าหรือหลักการศรัทธาในพระเจ้าซึ่งเป็นตำราเรียนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในประเทศไทยเช่นเดียวกัน  อาทิเช่น  หนังสือกีตาบอัตเตาฮีดซึ่งมูฮัมมัด  บิน  อับดุลวะฮาบเป็นผู้แต่ง  ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับหลักการให้เอกภาพต่อพระเจ้า  หรือหลักการศรัทธาในพระเจ้า  การยึดมั่นในหลักอากีดะฮฺสะลัฟซึ่งขณะนั้นไม่ได้มีแรงต่อต้านหรือคัดค้านแต่ประการใด แต่หลังจากที่บรรดานักศึกษาได้จบการศึกษาเป็นบัณฑิตจากกลุ่มประเทศอาหรับ  ได้เริ่มมีการกล่าวกันว่าเป็นกลุ่มวะฮาบีทั้ง ๆ  ผู้ที่ถูกใส่ร้ายไม่ได้ยอมรับในคำกล่าวเหล่านั้น

1.7  อิทธิพลของแนวความคิดวะฮาบียะฮฺทางด้านสังคมสงเคราะห์
รัฐบาลซาอุดิอารเบียยังได้สนับสนุนงานด้านสังคมสงเคราะห์  การเผยแผ่อิสลามในรูปแบบต่าง ๆ   มุสลิมทั่วโลกอีกด้วย  อาทิ  การสร้างมัสญิดและสถาบันการศึกษา  การจัดอบรมภาษาอาหรับและวิทยาการอิสลาม  การพิมพ์  อัลกุรอานและความหมายอัลกุรอานเป็นภาษาต่าง ๆ  กว่า  150  ภาษาและการช่วยเหลือสงเคราะห์คนยากจนและผู้ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ  เป็นต้น 
               
1.8       อิทธิพลของแนวความคิดวะฮบียะฮฺด้านหลักการยึดมั่นในเอกภาพของอัลลอฮฺ  
       และหลักศาสนบัญญัติ
                แนวคิดวะบียะฮฺด้านหลักการยึดมั่นในเอกภาพของอัลลอฮฺที่ยึดในแนวสะลาฟียะฮฺอย่างเคร่งครัด  เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวเป็นของมุสลิมในสมัย 300  ปีแรกของอิสลาม  ส่วนด้านหลักการฟิกฮฺ  ส่วนใหญ่จะใช้แนวทางของอิมามอะฮฺหมัด  บิน  ฮันบัล  ดังนั้นในระยะหลังที่มีนักศึกษาจบการศึกษาในโลกอาหรับจึงนำแนวดังกล่าวมาเผยแผ่

1.9  แนวคิดหรือความเข้าใจของมูฮัมมัด  บิน  อับดุลวะฮาบ
1. ต้องยึดถือทัศนะของอิบนุ  ตัยมียะฮฺในด้านอะกีดะฮฺ โดยเน้นเตาฮีดอุลูฮียะฮฺ (การยึดมั่นเอกภาพของอัลลอฮฺในด้านการเคารพภักดี) และเตาฮีดอัสมาอฺวัสสิฟาต (การยึดมั่นเอกภาพของอัลลอฮฺในด้านคุณลักษณะและพระนามอันไพจิตรของพระองค์)
2. ยึดแนวทางของอิมามอะหฺมัด บินฮันบัลในประเด็นปลีกย่อยทางศาสนบัญญัติ แต่ไม่ยึดแนวทางของอิมามคนใดเป็นที่แน่นอนในเรื่องหลักการพื้นฐานทั่วไป
                3. เรียกร้องให้เปิดประตูการอิจติฮาด (การวินิจฉัยปัญหาทางศาสนบัญญัติ) หลังจากที่ถูกประกาศห้ามการวินิจฉัยดังกล่าวตั้งแต่นครแบกแดดถูกพิชิตโดยพวกมองโกล
4. ห้ามการไปเยี่ยมสุสานของท่านนบี ศ็อลฯโดยมีเจตนาเพื่อขอดุอาอฺผ่านสื่อ
5. ถือว่าการอ่านบทกวีที่สรรเสริญท่านนบี ศ็อลฯ เช่น บัรซันยี บุรดะฮฺ หรือก่อศีดะฮฺอื่นๆเป็นบิดอะฮฺ (อุตริกรรม) รวมถึงการจัดงานเฉลิมฉลองวันคล้ายวันประสูติท่านศาสดา ศ็อลฯ
6. ยึดถือหลักการย้อนกลับไปสู่แนวทางของชาวสะลัฟในทุกด้าน ทั้งด้านความเชื่อและการปฏิบัติ
7. ต่อต้านกลุ่มแนวคิดทางปรัชญาและกลุ่มมุตะกัลลิมีน ที่อธิบายเตาฮีดตามหลักเหตุผลและหลักฐานทางสติปัญญา

1.10  วะฮาบียะฮฺในความเข้าใจของสื่อและคนทั่วไป
กระแสของคำว่า วะฮาบียะฮฺกำเนิดมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่สิบแปด  และได้แพร่ขยายอย่างกว้างขวางในสื่อแขนงต่าง ๆ  ทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะเหตุโศกนาฏกรรม  11  กันยายน  2001   และเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันท่ามกลางเหตุการณ์วุ่นวายและความรุนแรงทั่วโลกที่ผุดขึ้นตลอดสามปีที่ผ่านมารวมถึงสถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
                เหตุการณ์ที่รุนแรงต่าง ๆ  เกิดขึ้นในช่วงต้นของสหัสวรรษใหม่นี้ทำให้ผู้คนทั่วโลกตกอยู่ในภาวะความหวาดระแวง  และมุ่งหาสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นว่ามาจากที่ใด  ท้ายที่สุดกลุ่มที่ถูกเรียกว่ามุสลิมหัวรุนแรงได้ถูกโยงให้กลายเป็นผู้ต้องหารายสำคัญที่สื่อทั้งหลายนำมาตีแผ่และแพร่ขยายว่าเป็นต้นตอของเหตุการณ์ที่รุนรงทั้งหมดที่เกิดขึ้น  และวะฮาบียะฮฺ  ก็เป็นคำที่ถูกหยิบยกข้นมาให้โลดแล่นบนหน้าของสื่อต่าง ๆ  ทั้งหนังสือพิมพ์  นิตยสาร  ทีวี  และอินเตอร์เน็ตในฐานะที่เป็นลัทธิ  หรือแนวคิดทางศาสนาที่สื่อรายงานและให้ข้อมูลว่าอยู่เบื้องหลังและเป็นผู้บ่มเพาะกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงทั่วโลก
วะฮาบียะฮฺในความเข้าใจของผู้คนส่วนใหญ่  คือ  ลัทธิทางศาสนาลัทธิหนึ่งที่ก่อตั้งโดย
มูฮัมมัด  บิน  อับดุลวาฮาบ  ผู้ถือกำเนิดในคาบสมุทรอารเบียและมีชีวิตอยู่ระหว่างปี  ค.ศ.1703-1791
น่าแปลกใจที่จู่ ๆ คำว่า  วะฮาบียะฮฺก็มาเกี่ยวข้องกับมูฮัมมัด  บิน  อับดุลวาฮาบ  นักปราชญ์มุสลิมในศตวรรษที่สิบแปดผู้หนึ่ง  ซึ่งเป็นที่รู้จักว่าเป็นนักปฏิรูปและนักฟื้นฟูสังคมมุสลิมแห่งยุคสมัย  ทั้ง ๆ  ที่เจ้าตัวไม่เคยเรียกตัวเองว่า วะฮาบียะฮฺและไม่ได้ก่อตั้งลัทธิใหม่ที่แปลกประหลาดแตกต่างไปจากคำสอนดั้งเดิมของอิสลามแต่ประการใด
คำว่าวะฮาบียะฮฺ ถ้าพูดกันตามหลักการประสมคำดังที่ได้กล่าวมาแล้วไม่น่าจะถูกต้องถ้าจะเอาไปใช้กับชื่อมูฮัมมัด  บิน  อับดุลวาฮาบ  เพราะถ้าต้องการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง  ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในเชิงการเลื่อมใสในแนวทางหรือคำสอนของบุคคลนั้น  โดยปกติหากว่าเราจะใช้ชื่อของบุคคลนั้นมาประสมกันดังที่ได้อธิบายไปแล้วข้างต้น
ข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดเจนว่ามูฮัมมัด  บิน  อับดุลวาฮาบ  ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับวะฮาบียะฮฺเพราะคำว่า  วะฮาบียะฮฺเป็นการประสมคำของคนที่ชื่อ  อับดุลวาฮาบ  ซึ่งอาจจะหมายถึง  บิดาของมุฮัมมัดเองหรือคนอื่นก็ได้  ไม่ใช่ชื่อของมุฮัมมัดเอง  ในขณะที่บิดาของท่านไม่ได้มีส่วนร่วมเลยแม้แต่น้อย  ในการดำเนินการเผยแพร่ของมุฮัมมัด  เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นคำว่า  วะฮาบียะฮฺย่อมจะมีความหมายรวมถึงพี่น้องของมุฮัมมัดท่านอื่น ๆ  ด้วย  และถ้าหากต้องการที่จะแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับแนวทางและคำสอนของมูฮัมมัด  บิน  อับดุลวาฮาบ  จริง ๆ  คำประสมที่ถูกที่สุดควรต้องเป็น  มุฮัม-มะดีย์  ไม่ใช่  วะฮาบียะฮฺเว้นแต่ว่าการใช้คำว่า  วะฮาบียะฮฺกับมูฮัมมัด  บิน  อับดุลวาฮาบ  เป็นการ  ยืมเอามาใช้จากชื่อของผู้อื่นที่ชื่อ อับดุลวะฮาบ ด้วยจุดประสงค์และผลประโยชน์บางอย่างที่แฝงอยู่เบื้องหลัง

2 ความคิดเห็น:

  1. สรุปว่าบิดาของท่านเป็นคอลัฟ ส่วนเป็นสะลัฟหรือ เป็นไปได้อย่างไร ช่วยกระจ่างอีกทีครับ

    ตอบลบ
  2. ขอคำตอบจากคำถามข้างบนน่ะครับ ผมสนใจในเรื่องนี้ด้วยครับ

    ตอบลบ