เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
บล็อกนี้ เป็นบล็อกสำหรับทุกคนที่ต้องการรับรู้ถึงสังคมปัจจุบันว่ากำลังดำเนินไปในทิศทางใดและสังเกตุพฤติกรรมของมุสลิมในสังคมว่ามีสภาพว่าเป็นอย่างไร พร้อมกันนี้เพื่อนอิสลามจะคอยเป็นเพื่อนกับทุกท่านที่เข้ามาเยื่ยมชม ซึ่งสิ่งที่เราต้องการ คือ เป็นเพื่อนในอิิสลามของคุณตลอดไป และถ้าหากเห็นว่าบล็อกนี้มีประโยชน์ช่วยเม้นให้ด้วยนะ หรือ ถ้าหากจะต้องการเนื้อหาอะไรก็โพสได้นะครับ ยินดีเสมอครับ

วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555

ชนิดของหะดีษ

หะดีษอาห๊าดชนิดที่หนึ่ง

เป็นหนังสือที่ใช้สอนใน ของคณะอิสลามศึกษา มอ.ปัตตานี
โดย อาจารย์ อับดุลเลาะ การีนา มีทั้งหมด 7บท ต่อมาด้วยหะดีษต่างๆอีก 4 บทนะ

หะดีษมักบูล


หัวข้อย่อย
วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้
1. หะดีษมักบูล
2. หะดีษเศาะหีหฺ
3. ชนิดของหะดีษเศาะหีหฺ
4. หะดีษหะสัน
5. ชนิดของหะดีษหะสัน
1. เข้าใจความหมายของหะดีษมักบูล
2. เข้าใจความหมายของหะดีษเศาะหีหฺ
3. เข้าใจชนิดของหะดีษเศาะหีหฺ
4. เข้าใจหะดีษหะสัน
5. เข้าใจชนิดของหะดีษหะสัน

1.   นิยาม


หะดีษมักบูล คือ  หะดีษที่ไม่ครบเงื่อนไขต่าง ๆ ที่สามารถให้การยอมรับและนำมาใช้เป็นหลักฐานได้

2.   เงื่อนไขของหะดีษมักบูล


การที่จะเรียกว่าเป็นหะดีษมักบูลจะต้องประกอบด้วยเงื่อนไขดังนี้
1. สายรายงานติดต่อกัน
2. ผู้รายงานมีคุณธรรม
3. ผู้รายงานมีความจำที่ดีหรือดีเยี่ยม
4. ผู้รายงานไม่มีความบกพร่อง
5. ผู้รายงานไม่มีการปกปิดที่ซ่อนเร้น
6. การรายงานไม่ขัดแย้งกับการรายงานของคนอื่น
7. ได้รับการสนับสนุนจากสายรายงานอื่น

3.   ระดับของหะดีษมักบูล


หะดีษมักบูลพิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ นั้น แบ่งออกเป็น  2   ระดับ
ระดับที่ 1     หะดีษเศาะหีหฺ  หะดีษเศาะหีหฺลิซาติฮฺและหะดีษเศาะหีหฺลิฆัอยริฮฺ
ระดับที่ 2     หะดีษหะสัน หะดีษหะสันลิซาติฮฺและหะดีษหะสันลิฆัอยริฮฺ


ระดับที่ 1   หะดีษเศาะหีหฺ


บรรดาอุละมาอฺได้แบ่งหะดีษเศาะหีหฺออกเป็น ชนิด คือ หะดีษเศาะหีหฺลิซาติฮฺและหะดีษเศาะหีหฺลิฆัอยริฮฺ

ชนิดที่ 1   หะดีษเศาะหีหฺลิซาติฮฺ


1.   นิยาม

ตามหลักภาษาศาสตร์

คำว่า صحيحแปลว่า ถูกต้อง ตรงกันข้ามกับว่า سقيمแปลว่า ผิด หรืออ่อน หมายถึง หะดีษที่มีการรายงานอย่างถูกต้อง

ตามหลักวิชาการ

หะดีษเศาะหีหฺลิซาติฮฺ คือ  หะดีษที่มีการรายงานอย่างติดต่อกันโดยผู้รายงานที่มีคุณธรรมและมีความจำดีเยี่ยมจากบุคคลที่มีสถานภาพเดียวกัน  ไม่ขัดแย้งและไม่มีความบกพร่องที่ซ่อนเร้น (อิบนุ อัลเศาะลาหฺ : 10)

2.            เงื่อนไขของหะดีษเศาะหีหฺลิซาติฮฺ

การที่จะตัดสินหุก่มเป็นหะดีษเศาะหีหฺลิซาติฮฺที่สมบูรณ์นั้นต้องประกอบด้วยเงื่อนไขทั้ง  ประการ คือ 
1.             สายรายงานติดต่อกัน
หมายถึง  ผู้รายงานทุกคนรับหะดีษด้วยตัวเองจากอาจารย์ของแต่ละคนโดยไม่ขาดตอนแม้แต่คนเดียวตั้งแต่ผู้รายงานคนแรกจนถึงท่านนบีมุฮัมมัด r  การรายงานนั้นใช้สำนวนที่ชัดเจน  ตรงกันข้าม คือ การรายงานที่ขาดตอนช่วงหนึ่งช่วงใดของสายรายงาน
2.             ผู้รายงานที่มีคุณธรรม
หมายถึง ผู้รายงานเป็นผู้ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ Y พยายามรักษาตัวเองเป็นผู้มีวินัยและ หลักจริยธรรมอันดีงามสม่ำเสมอ    ตรงกันข้าม คือ คนฟาสิก (คนเลว)   คนมุบตะดิอฺ (นักอุตริ)     และคนมุรตัด (คนนอกรีด)
3.   ผู้รายงานที่มีความจำดีเยี่ยม
หมายถึง  ผู้รายงานที่มีความจำเป็นเลิศสามารถเรียกความรู้จากความจำของเขาเมื่อต้องการ ซึ่งนักหะดีษได้แบ่งความจำออกเป็น ประเภท คือ จำแบบถึงใจและจำแบบบันทึก ตรงกันข้าม คือ  คนหลงลืม  ผิดพลาด สับสน
4.   ผู้รายงานไม่ขัดแย้งกันกับคนอื่น
หมายถึง ผู้รายงานที่มีการรายงานไม่ขัดแย้งกับคนอื่นที่มีสถานภาพที่แข็งกว่าหรือที่มีความจำดีกว่า    ตรงกันข้าม คือ  ผู้รายงานที่รายงานขัดแย้งกันไม่ว่าจะขัดแย้งในสะนัดหรือขัดแย้งในมะตันหะดีษ
5.  ผู้รายงานไม่มีความบกพร่อง
หมายถึง  ผู้รายงานที่มีการรายงานเปิดเผยหรือความบกพร่องที่ซ่อนเร้นทำให้ฐานะของการรายงานมีผลต่อฐานะของหะดีษ
ความบกพร่องมี 2  ประเภท คือ บกพร่องที่เปิดเผยหรือบกพร่องในกระบวนการรายงาน เช่น  การรายงานที่ขาดตอน เป็นต้น  และบกพร่องที่ซ่อนเร้นหรือบกพร่องที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้นอกจากผู้เชี่ยวชาญในด้านหะดีษเท่านั้น

3.   ตัวอย่างหะดีษเศาะหีหฺลิซาติฮฺ

หะดีษเศาะหีหฺลิซาติฮฺมีมากมาย เช่น หะดีษเศาะหีหฺอัลบุคอรีย์และเศาะหีหฺมุสลิม และหะดีษบางส่วนในหนังสืออัสสุนันและหนังสือหะดีษอื่น ๆ ที่มีสถานภาพเดียวกันกับหะดีษในหนังสือดังกล่าว แต่ขอยกตัวอย่างเพียงหะดีษเดียวเท่านั้น
قال الإمام البخاريّ رحمه الله : حدثنا عبد الله بن يوسف، أخبرنا مالك، عن ابن شـهاب، عن محمد بن جبير بن مطعـم، عن أبيه قال : سمعتُ رسول الله صلى الله عليه وسلم قرأ في المغرب بالطور.
ความว่า อิมามอัลบุคอรีย์กล่าวว่า อับดุลเลาะ เบ็ญ ยูสุฟ (ثقة متقن) ได้รายงานแก่พวกเราว่า มาลิก (الفقيه، إمام دار الهجرة، رأس المتقنين )  ได้รายงานแก่พวกเรา จากอิบนุ ชิฮาบ (الفقيه الحافظ، متقن على جلالته وإتقانه ) จากมุฮัมมัด เบ็ญ ญุบัยรฺ เบ็ญ มุฏอิม (ثقة عارف بالنسب ) จากบิดา (เศาะหาบีย์) ของเขากล่าวว่า  ฉันได้ยินเราะสูลุลลอฮฺ r   อ่านสูเราะฮฺอัตฏูรในการละหมาดมัฆริบ (อัลบุคอรีย์  : 2/247)
หะดีษบทนี้เป็นหะดีษเศาะหีหฺลิซาติฮฺ  เนื่องจากผู้รายงานทั้งหมดมีคุณสมบัติของหะดีษเศาะหีหฺทั้งห้าประการ

4.   ฐานะของหะดีษเศาะหีหฺลิซาติฮฺ

หะดีษเศาะหีหฺลิซาติฮฺเป็นแหล่งที่มาของบทบัญญัติอิสลามในทุก ๆ ด้านรองจากอัลกุรอาน  เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของวะหฺยูที่ถูกประทานลงมาแก่ท่านนบีมุฮัมมัด r
5.   การนำมาใช้เป็นหลักฐาน

บรรดาอุละมาอฺในทุกมัซฮับมีความเห็นพ้องกันว่าวาญิบที่จะต้องนำหะดีษ     เศาะหีหฺลิซาติฮฺมาเป็นหลักฐานในทุก ๆ เรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาและดุนยา อิมามอัชชาฟิอีย์กล่าวว่า การยอมรับเคาะบัรและนำมาปฏิบัติได้นั้นก็ต่อเมื่อสามารถยืนยันในความถูกต้องของมัน แม้นว่าจะมีนักวิชาการคนหนึ่งคนใดไม่ได้ปฏิบัติตามหรือได้นำหะดีษมาเป็นหลักฐานก็ตาม แต่หลังจากนั้นพบว่าการกระทำของเขาขัดแย้งกับหะดีษเราะสูลุลลอฮฺ r แน่นอนเขาจะต้องยุติการกระทำนั้นและหันมาปฏิบัติตามหะดีษเศาะหีหฺ  เนื่องจากการยืนยันของการปฏิบัติในแต่ละเรื่องนั้นมาจากหะดีษเศาะหีหฺ  มิใช่มาจากการปฏิบัติของใครคนหนึ่งคนใดที่มิใช่ท่านนบี   มุฮัมมัด r ” (อัลกอสิมีย์ : 94)

6.   ศัพท์ต่าง ๆ ที่ใช้กับหะดีษเศาะหีหฺ

- “หะดีษเศาะหีหฺหรือ นี่คือหะดีษเศาะหีหฺหมายถึง  หะดีษที่มีคุณสมบัติของ    หะดีษเศาะหีหฺข้างต้นครบทุกประการ
- บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หรือบันทึกโดยมุสลิม
- “หะดีษนี้ไม่เศาะหีหฺ หมายถึง หะดีษที่ประกอบด้วยคุณสมบัติเพียงสามประการเท่านั้น หรือส่วนหนึ่งจากคุณสมบัติทั้งห้าประการ (มะหฺมูด อัลเฏาะหฺหาน : 123)
- “หะดีษนี้คือหะดีษเศาะหีหฺอิสนาด  หมายถึง หะดีษเศาะหีหฺเฉพาะสะนัดหรือจากหลาย ๆ สะนัดมารวมกัน แต่ไม่ใช่เป็นหะดีษเศาะหีหฺเสมอไป ศัพท์เช่นนี้เป็นศัพท์เฉพาะในหนังสือมุสตัดร๊อก อะลา อัศเศาะหีหัยนฺของอิมามอัลหากิมเท่านั้น
- “สะนะดุฮูเศาะหีหฺหรือ อิสนาดุฮูเศาะหีหฺ”  หมายถึง หะดีษเศาะหีหฺพิจารณาเพียงสะนัดของหะดีษนั้น ๆ เท่านั้น  ไม่รวมถึงสะนัดอื่นที่รายงานตัวบทเดียวกัน

7.   ตำราที่เกี่ยวข้อง

1كتاب الجامع الصحيح، الإمام البخاريّ   .
2كتاب الجامع الصحيح، الإمام مسلم النيسابوريّ   .
3كتاب السنن   .
4كتاب المسانيد   .
5كتاب المصنفات   .
6.كتاب المستدرك على الصحيحين، الإمام الحاكم  

ชนิดที่ 2    หะดีษเศาะหีหฺลิฆัอยริฮฺ


1.  นิยาม


หะดีษเศาะหีหฺลิฆัอยริฮฺ คือ  หะดีษหะสันลิซาติฮฺที่ได้รับการสนับสนุนจากสะนัดอื่นที่มีฐานะเดียวกันหรือมีฐานะสูงกว่า
การที่เรียกว่า หะดีษเศาะหีหฺลิฆัอยริฮฺนั้นเนื่องจากความเศาะหีหฺของหะดีษไม่ใช่มาจากคุณสมบัติอันพึงประกอบภายในตัวของมันเอง แต่ได้รับการสนับสนุนจาก สะนัดอื่นหนึ่งหรือมากกว่า ซึ่งสะนัดอื่นนั้นมีฐานะเดียวกันหรือสูงกว่า

2.  การเลื่อนฐานะเป็นหะดีษเศาะหีหฺลิฆัอยริฮฺ

การเลื่อนฐานะของหะดีษหะสันลิซาติฮฺเป็นหะดีษเศาะหีหฺลิฆัอยริฮฺต้องประกอบ ด้วยเงื่อนไข  ประการดังนี้
1.   ได้รับการสนับสนุนจากสะนัดอื่นหนึ่งสะนัดหรือมากกว่า   จะเป็นประเภทหะดีษมัรฟูอฺ หรือหะดีษเมากูฟ ก็ตาม
2.   สะนัดอื่นนั้นต้องมีฐานะเดียวกันหรือมีฐานะสูงกว่า

3.   ตัวอย่างหะดีษเศาะหีหฺลิฆัอยริฮฺ


قال الترمذيّ رحمه الله تعالى : حدثنا أبو كريب، حدثنا عبدة بن سليمان، عن محمد بن عمرو، عن أبي سلمة، عن أبي هريرة رضي الله عنه أن رسول الله صلى الله عليه وسـلم قال : (( لو لا أن أشق على أمتي لأمرتُهم بالسواك عند كل صلاة )).
ความว่า อิมามอัตติรมิซีย์กล่าวว่า อะบูกุรอยบฺ (ثقة) ได้รายงานแก่พวกเราว่า   อับดะฮฺ เบ็ญ สุลัยมาน (ثقة) ได้รายงานแก่พวกเรา จากมุฮัมมัด เบ็ญ อัมรฺ (  ثقة)จากอะบูสะละมะฮฺ (صدوق) จากอะบีฮุรอยเราะฮฺ t  (เศาะหาบีย์) แท้จริงเราะสูลุลลอฮฺ r ได้กล่าวว่า หากไม่ทำให้ยากลำบากสำหรับประชาชาติของฉัน  แน่นอนฉันจะสั่งพวกเขาให้แปรงฟัน เมื่อต้องการทำละหมาดทุกครั้ง(อัตติรมิซีย์ : 1/34, หะดีษนี้บันทึกโดยอะบูดาวูด  : 1/40 จากซัยดฺ เบ็ญ คอลิด อัลญุฮะนีย์)
หะดีษด้วยสายรายงานนี้ คือ หะดีษหะสันลิซาติฮฺ      เนื่องจากมีผู้รายงานคนหนึ่งชื่อ อะบูสะละมะฮฺ (أبو سلمةْ) ซึ่งมีสถานภาพเป็นผู้เศาะดูก (สัจจะ) แต่หะดีษนี้มีสะนัดอื่นได้รายงานในตัวบทเดียวกันที่มีฐานะสูงกว่าสะนัดหะดีษดังกล่าวมาสนับสนุนทำให้เลื่อนฐานะเป็นหะดีษเศาะหีหฺลิฆัอยริฮฺ

4.  ฐานะของหะดีษเศาะหีหฺลิฆัอยริฮฺ


หะดีษเศาะหีหฺลิฆัอยริฮฺมีฐานะต่ำกว่าหะดีษเศาะหีหฺลิซาติฮฺ และมีฐานะสูงกว่า   หะดีษหะสันลิซาติฮฺ

5.  การนำมาใช้เป็นหลักฐาน


บรรดาอุละมาอฺมีความเห็นพ้องกันว่า หะดีษเศาะหีหฺลิฆัอยริฮฺเหมือนกับหะดีษเศาะหีหฺลิซาติฮฺในด้านการนำมาใช้เป็นหลักฐานและการปฏิบัติตาม

ระดับที่ 2    หะดีษหะสัน


อุละมาอฺได้แบ่งหะดีษหะสันออกเป็น 2 ชนิด คือ หะดีษหะสันลิซาติฮฺและหะดีษหะสันลิฆัอยริฮฺ   รายละเอียดของแต่ละชนิดมีดังนี้

ชนิดที่ 1   หะดีษหะสันลิซาติฮฺ


1.   นิยาม

ตามหลักภาษาศาสตร์

คำว่า حسنแปลว่า ดี หรือสวย  หมายถึง หะดีษที่ดี    แต่ไม่ถึงขั้นดีมาก เพราะหะดีษที่มีลักษณะดีมากก็อยู่ในระดับหะดีษเศาะหีหฺ

ตามหลักวิชาการ

หะดีษหะสันลิซาติฮฺ คือ  หะดีษที่มีสายรายงานติดต่อกัน  จากการรายงานของผู้ รายงานที่มีคุณธรรมและมีความจำดีจากบุคคลที่มีสถานภาพเดียวกันจนถึงปลายสะนัด เป็นการรายงานที่ไม่ขัดแย้งกับการรายงานของคนอื่นและไม่มีความบกพร่อง (อัลอัสเกาะลานีย์ : 29)
ข้อแตกต่างระหว่างหะดีษเศาะหีหฺลิซาติฮฺกับหะดีษหะสันลิซาติฮฺ คือ ด้านความจำของผู้รายงานหะดีษระหว่างความจำดีเยี่ยมกับความจำดี

2.   เงื่อนไขของหะดีษหะสันลิซาติฮฺ


สำหรับหะดีษหะสันลิซาติฮฺมีเงื่อนไข 5 ประการด้วยกัน คือ
1.  สายรายงานติดต่อกัน 
2.  ผู้รายงานที่มีคุณธรรม 
3.  ผู้รายงานมีความจำดี (ไม่ถึงขั้นดีเยี่ยมหรือดีมาก
4.  การรายงานไม่ขัดแย้งกับการรายงานของคนอื่น
5.  ไม่มีความบกพร่องในการรายงานหะดีษ

3.   ตัวอย่างหะดีษหะสันลิซาติฮฺ


قال الترمذيّ : حدثنا جعفر بن سليمان الضبعيّ، عن أبي عمران الجونيّ، عن أبي بكر بن أبي موسى الأشعريّ قال : سمعتُ أبي بحضرة العدو يقول : قال رسول الله صلى الله عليه وسلم : (( إن أبواب الجنة تحت ظلال السيوف )).
ความว่า อิมามอัตติรมิซีย์กล่าวว่า ญะอฺฟัร เบ็ญ สุลัยมาน อัฎฎุบะอีย์ (صدوق ) ได้รายงานแก่พวกเรา จากอะบู อิมรอน อัลเญานีย์ (ثقة  ) จากอะบูบักรฺ เบ็ญ อะบู    มูสา อัลอัชอะรีย์ (ثقة ) กล่าวว่า ฉันได้ยินบิดาของฉัน (صحابي جليل  )  เมื่อเผชิญกับศัตรูกล่าวว่า เราะสูลุลลอฮฺ r ได้กล่าวว่า แท้จริง ประตูสวรรค์นั้นอยู่ใต้เงาของดาบ” (อัตติรมิซีย์ : 5/300 อะบูอีซากล่าวว่า หะดีษนี้เป็นหะดีษหะสัน”)
หะดีษด้วยสะนัดนี้เป็นหะดีษหะสันลิซาติฮฺ  เนื่องจากผู้รายงานในสะนัดท่านหนึ่งเป็นผู้ที่มีสถานภาพเป็นคนเศาะดูก  คือ ญะอฺฟัร เบ็ญ สุลัยมาน อัฎฎุบะอีย์  ส่วนผู้รายงานท่านอื่น ๆ ทั้งหมดเป็นคนษิเกาะฮฺ (เชื่อถือได้)

4.   ฐานะของหะดีษหะสันลิซาติฮฺ


หะดีษหะสันลิซาติฮฺมีฐานะสูงกว่าหะดีษหะสันลิฆัอยริฮฺ และมีฐานะต่ำกว่าหะดีษ     เศาะหีหฺลิฆัอยริฮฺ    เนื่องจากผู้รายงานในสะนัดมีสถานะเหมือนกับสถานะของผู้รายงาน หะดีษเศาะหีหฺ เช่น  ษิเกาะฮฺ  มีคุณธรรมและจริยธรรม  เป็นต้น เว้นแต่ด้านความจำเท่านั้น ดังที่ได้อธิบายไปแล้ว

5.   การนำมาใช้เป็นหลักฐาน


ตามทัศนะของอุละมาอฺหะดีษ  ฟิกฮฺและอุศูล อัลฟิกฮฺมีความเห็นว่า  หะดีษหะสัน ลิซาติฮฺเหมือนกับหะดีษเศาะหีหฺในด้านการนำมาเป็นหลักฐาน คือ วาญิบให้นำมาใช้เป็นหลักฐานในทุก ๆ เรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องดุนยาและเรื่องต่าง ๆ ของศาสนา
6.   ตำราที่เกี่ยวข้อง

1. كتاب سنن الترمذيّ، الإمام الترمذيّ 
2. كتاب سنن أبي داود، الإمام أبو داود 
3. كتاب سنن سعيد بن منصور، الإمام سعيد بن منصور 

 

ชนิดที่ 2   หะดีษหะสันลิฆัอยริฮฺ


1.   นิยาม

หะดีษหะสันลิฆัอยริฮฺ คือ หะดีษเฎาะอีฟที่ได้รับการสนับสนุนจากสะนัดอื่น (อัลอัสเกาะลานีย์ : 29)
ตามทัศนะของอิมามอันนะวะวีย์ คือ  หะดีษที่รายงานโดยผู้รายงานมัจฮูลแต่ไม่ปรากฏว่าเคยกระทำบาป (อันนะวะวีย์ : 1/58)  

2.   ตัวอย่างของหะดีษหะสันลิฆัอยริฮฺ

قال الإمام أبو داود : حدثنا محمد بن إبراهيم الأسباطيّ، حدثنا عبدالرحيم ابن سليمان، عن محمد بن إسحاق، عن عاصم بن عمر بن قتادة، عن محمود بن لبيد، عن رافع بن خديج رضي الله عنه قال : سمعتُ رسول الله صلى الله عليه وسلم : (( العامل على الصدقة بالحق كالغازي في سبيل الله حتى يرجع إلى بيته )).
ความว่า อิมามอะบูดาวูดกล่าวว่า มุฮัมมัด เบ็ญ อิบรอฮีม อัลอัสบาฏีย์ (صدوق) ได้รายงานแก่พวกเราว่า อับดุลเราะหีม เบ็ญ สุลัยมาน (ثقة  ) ได้รายงานแก่พวกเรา จากมุฮัมมัด เบ็ญ อิสหากฺ (صدوق يدلس، ورمي بالتشيع والقدر ) จากอาศิม เบ็ญ อุมัร เบ็ญ เกาะตาดะฮฺ (ثقة ) จากมะหฺมูด เบ็ญ ละบีบ (صحابي جليل ) จากรอฟิอฺ เบ็ญ เคาะดีจญ์ t (صحابي جليل )  กล่าวว่า  ฉันได้ยินเราะสูลุลลอฮฺ r กล่าวว่า ผู้ที่ทำหน้าที่รวบรวมเศาะดะเกาะฮฺ (ซะกาต) โดยปฏิบัติด้วยความถูกต้องเสมือนกับผู้ที่ทำสงครามในหนทางของอัลลอฮฺจน กระทั่งเขากลับถึงบ้านของเขา (อะบู ดาวูด : 3/348-349 )
หะดีษด้วยสะนัดข้างต้นเป็นหะดีษเฎาะอีฟเนื่องจากเป็นการรายงานของมุฮัมมัด เบ็ญ อิสหาก ซึ่งเป็นคนเฎาะอีฟ  แต่หะดีษบทนี้มีการรายงานจากสะนัดอื่นที่มีฐานะเหนือกว่าจึงสามารถเลื่อนฐานะเป็นหะดีษหะสันลิฆัอยริฮฺ
3.   การเลื่อนฐานะของหะดีษเฎาะอีฟ

หะดีษเฎาะอีฟสามารถเลื่อนฐานะเป็นหะดีษหะสันลิฆัอยริฮฺได้จะต้องประกอบ ด้วยเงื่อนไข  ประการ คือ
1. ความเฎาะอีฟของหะดีษมาจากความบกพร่องในสะนัด หรือความบกพร่องอันเนื่องมาจากความจำของผู้รายงาน
2.   มีการรายงานหะดีษด้วยบทเดียวกัน หรือมีความหมายเหมือนกัน
3.  มีการรายงานจากสะนัดอื่นที่มีฐานะเหมือนกันหรือเหนือกว่า  และสายรายงานอื่นนั้นมีหนึ่งสะนัดหรือมากกว่า

4.   ฐานะของหะดีษหะสันลิฆัอยริฮฺ

หะดีษหะสันลิฆัอยริฮฺมีฐานะต่ำกว่าหะดีษหะสันลิซาติฮฺและมีฐานะสูงกว่าหะดีษเฎาะอีฟ หะดีษเฎาะอีฟญิดดัน และหะดีษเมาฎูอฺ ถึงแม้ว่าเดิมนั้นเป็นหะดีษเฎาะอีฟก็ตาม

5.   การนำมาใช้เป็นหลักฐาน

หะดีษหะสันลิฆัอยริฮฺเป็นส่วนหนึ่งของหะดีษมักบูล  ดังนั้น  การนำมาใช้เป็นหลักฐานก็เหมือนกับหะดีษเศาะหีหฺและหะดีษหะสัน คือ วาญิบให้นำมาใช้เป็นหลักฐานและสามารถปฏิบัติตามในทุก ๆ เรื่องเช่น อะกีดะฮฺ  อิบาดะฮฺ หะลาลและหะรอม เป็นต้น

ชนิดอื่นของหะดีษมักบูล


การแบ่งชนิดของหะดีษมักบูลนอกจากพิจารณาคุณลักษณะของผู้รายงานแล้ว ยังสามารถแบ่งออกเป็น 2  ชนิด ได้แก่ หะดีษมะอฺรูฟและหะดีษมะหฺฟูศ

1.  หะดีษมะอฺรูฟ

1.   นิยาม


หะดีษมะอฺรูฟ คือ  หะดีษที่รายงานโดยผู้รายงานที่ษิเกาะฮฺขัดแย้งกับหะดีษที่รายงานโดยผู้รายงานที่เฎาะอีฟ (อัลอัสเกาะลานีย์ : 33)  ตรงกันข้ามกับหะดีษมะอฺรูฟ คือ หะดีษมุนกัร

2.   ตัวอย่างหะดีษมะอฺรูฟ


حديث : (( من أقام الصلاة وآتى الزكاة وحج البيت وصام رمضان وقرى الضيف دخل الجنة ))
ความว่า  ผู้ใดดำรงการละหมาด (ห้าเวลา)  และจ่ายซะกาต และประกอบพิธีฮัจญ์และถือศีลอดในเดือนรอมะฎอน และให้เกียรติแขกเรือน  เขาจะได้เข้าสวรรค์” (อิบนุ อัศเศาะลาหฺ : 73)
หะดีษบทนี้ คือ  หะดีษมะอฺรูฟจากการรายงานของอิบนุอับบาส  หะดีษบทนี้จัดอยู่ในประเภทหะดีษเมากูฟจากการรายงานของผู้รายงานที่ษิเกาะฮฺขัดแย้งกับการรายงานของ   หุมัยยับ เบ็ญ หะบีบซึ่งมีสถานภาพเป็นคนเฎาะอีฟ ซึ่งได้ยินหะดีษจากอะบูอิสหากจากอัลอัยซาร เบ็ญ หุรัยษฺ จากอิบนุ อับบาส  (อิบนุ อัศเศาะลาหฺ : 73)

3.   ฐานะของหะดีษมะอฺรูฟ


หะดีษมะอฺรูฟเป็นส่วนหนึ่งของหะดีษมักบูลที่มีฐานะเหมือนกับหะดีษเศาะหีหฺและหะดีษหะสัน เนื่องจากมีคุณสมบัติของหะดีษมักบูลครบทุกประการ

4.   การนำมาใช้เป็นหลักฐาน


หะดีษมะอฺรูฟวาญิบให้นำมาใช้เป็นหลักฐานและปฏิบัติตามในทุก ๆ เรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาดังการปฏิบัติของอุละมาอฺหะดีษและอุละมาอฺในสาขาอื่น ๆ

2.  หะดีษมะหฺฟูศ

1.   นิยาม


หะดีษมะหฺฟูศคือ  หะดีษที่รายงานโดยผู้รายงานที่ษิเกาะฮฺกว่าขัดแย้งกับการรายงานของผู้ษิเกาะฮฺ (อับนุ อัศเศาะลาหฺ : 150)    ตรงกันข้ามกับหะดีษมะฮฺฟูศ คือ หะดีษช๊าซ

2.   ตัวอย่างหะดีษมะหฺฟูศ


حديث عن أبي موسى الأشعريّ مرفوعاً بلفظ : (( الطاعون وخز أعدائكم من الجن ))
ความว่า  จากอะบูมูซา อัลอัชอะอรีย์ กล่าวด้วยสำนวนมัรฟูอฺ เล่าว่า โรคอหิวาตกโรคนั้นเป็นศัตรูของพวกเจ้าที่มาจากญิน (อะหฺมัด : 4/395 และอัลหากิม : 1/50)
หะดีษบทนี้รายงานโดยผู้รายงานที่ษิเกาะฮฺกว่าผู้รายงานหะดีษ (( الطاعون وخز إخوانكم من الجنّ )) แปลว่า โรคอหิวาตกโรคนั้นเป็นเพื่อนของพวกเจ้าที่มาจากญิน  ดังนั้น  หะดีษบทนี้เป็นหะดีษช๊าซ

3.   ฐานะของหะดีษมะหฺฟูศ


หะดีษมะหฺฟูศเป็นส่วนหนึ่งของหะดีษมักบูลเหมือนกับหะดีษมะอฺรูฟเหมือนกัน และมีฐานะเท่ากับหะดีษเศาะหีหฺและหะดีษหะสัน

4.   การนำมาใช้เป็นหลักฐาน


อุละมาอฺหะดีษ  อุละมาอฺฟิกฮฺ และอุละมาอฺอื่น ๆ มีความเห็นว่า วาญิบให้นำ    หะดีษมะหฺฟูศมาใช้เป็นหลักฐานและปฏิบัติตามในทุก ๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา

โจทย์ฝึกหัดเพิ่มเติม

1.  การที่จะเรียกหะดีษมักบูลจะต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง ?
2.  หะดีษเศาะหีหฺมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ?
3.  หะดีษเศาะหีหฺจำเป็นจะต้องนำมาใช้เป็นหลักฐาน เพราะเหตุใด ?
4.  การเรียกหะดีษเป็นหะดีษเศาะหีหฺมีเงื่อนไขอะไรบ้าง ?
5.  ข้อบัญญัติของหะดีษเศาะหีหฺอย่างไร ?
6.   ข้อแตกต่างระหว่างหะดีษเศาะหีหฺลิซาติฮฺกับหะดีษเศาะหีหฺลิฆอยริฮฺคืออะไร ?
7.  หะดีษหะสันมีคุณสมบัติอย่างไร ?
8.  หะดีษแบ่งออกเป็นกี่ชนิด อะไรบ้าง ?
9.  ข้อแตกต่างระหว่างหะดีษเศาะหีหฺกับหะดีษหะสันอย่างไร?
10. ทำไมหะดีษหะสันต้องเรียกว่าหะดีษหะสันลิฆอยริฮฺ ?
11. ข้อบัญญัติของหะดีษหะสันอย่างไร ?
12. มารยาทที่มีต่อหะดีษเศาะหีหฺและหะดีษหะสันคืออะไรบ้าง ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น