เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
บล็อกนี้ เป็นบล็อกสำหรับทุกคนที่ต้องการรับรู้ถึงสังคมปัจจุบันว่ากำลังดำเนินไปในทิศทางใดและสังเกตุพฤติกรรมของมุสลิมในสังคมว่ามีสภาพว่าเป็นอย่างไร พร้อมกันนี้เพื่อนอิสลามจะคอยเป็นเพื่อนกับทุกท่านที่เข้ามาเยื่ยมชม ซึ่งสิ่งที่เราต้องการ คือ เป็นเพื่อนในอิิสลามของคุณตลอดไป และถ้าหากเห็นว่าบล็อกนี้มีประโยชน์ช่วยเม้นให้ด้วยนะ หรือ ถ้าหากจะต้องการเนื้อหาอะไรก็โพสได้นะครับ ยินดีเสมอครับ

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555

กระบวนทัศน์อิสลามเกี่ยวกับผู้หญิง


กระบวนทัศน์อิสลามเกี่ยวกับผู้หญิงตั้งอยู่บนหลักการอิสลามที่สำคัญสามหลักการคือ หลักการนัฟซุนวาฮีดะฮฺ หลักการอิสติคลาฟและหลักการอีมานและอามัล ซึ่งหลักการทั้งสามจะเป็นกรอบในการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับผู้หญิงในอิสลาม
1. หลักการนัฟซุนวาฮีดะฮฺ (One Soul)
อัลกรุอานเป็นทางนำ(ฮุดา) และแนวทางสำหรับมนุษย์ที่มีความยำเกรง(ตักวา) ต่ออัลลอฮฺ(อัลกรุอาน2:2)อัลกรุอานในฐานะที่เป็นทางนำจะประกอบด้วยสาระสำคัญสามส่วนคือ ส่วนที่เกี่ยวกับการศรัทธา(อะกีดะฮฺ/อีมาน) ส่วนที่เกี่ยวกับหลักการจริยธรรมและกฎหมาย(อัคลาสและชะรีอะฮฺ) และส่วนที่เป็นกฏเกณฑ์ทางสังคมและรัฐ(Abdurrahman 1998) ความหมายโดยอัลกรุอานคือ ครรลองในการจัดการชีวิตของมุสลิมให้สอดคล้องกับวิถีแห่งอิสลามที่ครอบคลุมในทุกมิติอย่างครบถ้วน อัลกรุอานจึงเป็นทั้งทางนำและครรลองในการจัดการชีวิตมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุด หลักการที่ได้กำหนดโดยอัลกรุอานจึงเป็นบรรทัดฐานที่มุสลิมทุกคนต้องเชื่อและปฏิบัติ
            หลักการ นัฟซุนวาฮีดะฮฺ เป็นหลักการเบื้องต้นที่อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ในอัลกรุอาน ความว่า มนุษยชาติทั้งหลาย จงยำเกรงพระเจ้าของพวกเจ้าที่ได้บังเกิดพวกเจ้ามาชีวิตหนึ่ง (อัลกรุอาน 4:1) เป็นหลักการที่อัลลอฮฺได้กำหนดสถานะของผู้หญิงให้มีความเท่าเทียมกับชายและเป็นที่มาของหลักการสถานภาพ หลักการศักดิ์ศรี และหลักการสิทธิของผู้หญิงในอิสลาม
            จากโองการข้างต้นมีคำหลักสองคำที่จะต้องทำความเข้าใจคือคำว่า นาส และ นัฟซุนวาฮีดะฮฺ คำว่านาส ในโองการข้างต้นหมายถึงมนุษย์ทั้งสองเพศ (Al fakhr al razi อ้างใน Andek Musnah 2001) และคำว่า นัฟซุนวาฮีดะฮฺ ซึ่งนักอรรถาธิบายอัลกรุอานส่วนใหญ่ได้ให้คำอธิบายว่าหมายถึง อดัม
( al Qurtabi 1967, 3:3อ้างใน Andek Musnah 2001) อันหมายถึงบรรพบุรุษของมนุษย์คู่แรก(อดัมและอีฟ)ที่อัลลอฮฺได้สร้างขึ้น พระองค์นั้นคือ ผู้ที่ได้ทรงบังเกิดพวกเจ้าจากชีวิตเดียว (คือ ท่านนบีอดัม) และได้ทรงให้มีขึ้นจากชีวิตนั้นซึ่งคู่ครอง (คือพระนางฮาวาหรืออีฟ)……” (อัลกรุอาน7:189)
หลักการนัฟซุนวาฮีดะฮฺ เป็นหลักการที่ได้กำหนดว่าชายและหญิงในอิสลามนั้นเท่าเทียมกันทั้งในด้านความเป็นตัวตนและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ (อัลกรุอาน7:70) เป็นหลักการที่มุสลิมทุกคนจะต้องเชื่อและยอมรับความเท่าเทียมในเพศสภาพ คือ เชื่อว่าชายและหญิงนั้นมีจิตวิญญาณที่เหมือนกัน(อัลกรุอาน7:189) โดยที่ทั้งสองได้รับการเป่าเสกวิญญาณ(รูหฺ) จากอัลลอฮฺเหมือนกัน (อัลกรุอาน 32:9) ดังนั้นกระบวนทัศน์อิสลามเกี่ยวกับผู้หญิงจึงไม่มีที่ว่างสำหรับความเชื่อที่ว่าหญิงคือช้างเท้าหลังชายคือ ช้างเท้าหน้า หญิงเป็นสาเหตุให้ชายนั้นตกต่ำ หรือการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรของหญิงนั้นเป็นคำสาบหรือบทลงโทษบนฐานความผิดที่นางฮาวาได้ฝืนคำสั่งของพระเจ้าในสวนสวรรค์ ความเท่าเทียมหรือความเสมอภาคระหว่างชายและหญิงในอิสลามนั้นมุฮัมหมัดได้กล่าวในเชิงเปรียบเทียบว่าหญิงนั้นคือพี่น้องของชายนั้นเอง(หะดีษ บันทึกโดยอัฏฏอรมีซี) และท่านยังได้ประกาศอีกว่า ท่านทั้งหลายคือ (ชายและหญิง) มาจากอดัมและอดัมได้ถูกสร้างมาจากดิน (หะดีษบันทึกโดยบุคอรีย์ มุสลิมและอบูดาวูด)
จากคำประกาศของท่านศาสดาข้างต้นเป็นบทสรุปที่ชัดเจนว่า กระบวนทัศน์อิสลามที่เกี่ยวกับหญิงนั้นจะปฏิเสธหลักการที่ว่าชายเหนือกว่าหญิง ในทุกมิติไม่ว่ามิติทางด้านศาสนา สังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการศึกษา หลักการ นัฟซุนวาฮีดะฮฺ เป็นหลักการพื้นฐานในการจัดวางระบบเสรีภาพ ระบบความเสมอภาค และระบบความยุติธรรม   ในสังคมที่มีชายและหญิงเป็นส่วนประกอบ โดยไม่มีนัยยะแห่งความรู้สึกที่ถือเขาถือเราในการกำหนดค่านิยมและแนวปฏิบัติในสังคม
2.หลักการอิสติคลาฟ
หลักการการอิสติคลาฟหมายถึงหลักการที่ยอมรับว่ามนุษย์เป็นตัวแทนของอัลลอฮฺ (Viceqerent of God / เคาะลีฟะห์ของอัลลอฮฺ) บนพื้นพิภพดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสต่อบรรดามาลาอีกะฮฺ  ความว่า “แท้จริงข้าจะมีผู้แทนคนหนึ่งในพิภพ” อัลกุรอาน 2:30 เคาะลีฟะห์ เป็นภาษาอาหรับ
โดยอิบนู คอลดูน ได้ให้ความหมายอย่างสั้นๆว่าหมายถึง ผู้ที่ธำรงไว้ซึ่งหลักการศาสนาอิสลามและนำหลักการศาสนาอิสลามมาบริหารจัดการโลกและแปลความหมายเป็นภาษาอังกฤษตรงกับคำว่า Vicegerent ซึ่งหมายถึง ผู้หนึ่งผู้ใดที่ได้รับสืบทอดปฏิบัติตามคำสั่งการของกษัตริย์หรือผู้นำและมีความครอบคลุมถึงการสืบตำแหน่งของบุคคลเพื่อดำเนินการตามความประสงค์ของกษัตริย์หรือผู้นำต้องการให้บุคคลนั้นๆทำด้วยการใช้พระราชอำนาจของกษัตริย์หรือผู้นำได้มอบหมายให้และห้ามดำเนินการใดๆด้วยอำนาจตามลำพังทีตัวเองนั้นมีอยู่
อิสติคลาฟ เป็นสถานภาพสูงสุดที่อัลลอฮฺ ทรงมอบให้กับมนุษย์ทุกคนโดยไม่จำกัดเพศสภาพ เชื้อชาติและสีผิว เป็นตำแหน่งที่ทรงกำหนดให้เป็นเป้าหมายสูงสุดและเป็นภารกิจหลักให้ปฏิบัติอย่างจริงจังตามศักยภาพที่แต่ละคนมีอยู่
ภารกิจหลักที่เคาะลีฟะห์ของอัลลอฮฺต้องรับผิดชอบมีสามส่วนด้วยกัน คือ
1.สร้างความสมบูรณ์ในตัวของมนุษย์ตามพระประสงค์ของอัลลอฮฺ
2.สร้างความสมบูรณ์ในสังคมมนุษย์ตามพระประสงค์ของอัลลอฮฺ
3.สร้างสมบูรณ์ทางกายภาพของโลกตามที่อัลลอฮฺทรงประสงค์
3.หลักการอีมานและอามัล
            หลักการอีมานและอามัล(การศรัทธาและการปฏิบัติ/ Belief and Action) เป็นหลักการใหญ่หลักการหนึ่งที่เกี่ยวโยงกับการกำหนดกระบวนทัศน์ผู้หญิงในอิสลาม หลักการอีมานและอามัลเป็นหลักการที่ควบคู่ที่เชื่อมโยงกันและเป็นหลักการที่แยกออกเป็นสองส่วนไม่ได้ ดังที่ปรากฏในอัลกรุอานเมื่ออัลลอฮฺได้กล่าวถึงอามานูคือ อีมานหรือศรัทธาแล้วพระองค์จะควบตามด้วยคำว่า “วาอามีลูศศอลีฮาดคือ อามัลหรือการปฏิบัติที่ดี โดยมีนัยยะที่สำคัญคือการศรัทธา(อีมาน)กับการปฏิบัติ(อามัล) นั้นจะต้องควบคู่กันและแยกขาดออกจากกันไม่ได้ (อัลกรุอาน 9:17,8:2-4,2:285,2:254,23:1,33:36และ49:15 ฯลฯ) หลักการอีมานและอามัลเป็นหลักการที่ครอบคลุม ครบวงจรและมีความต่อเนื่องในวิถีชีวิตของมนุษยในอิสลาม กล่าวคือการศรัทธาในอัลลอฮฺ(อีมาน)ของมุสลิมคือฐานที่กำหนดคุณค่าของการปฏิบัติ(อามัล) (หะดีษมุต-ตะฟัคอะลัยฮ- รายงานโดย อิบนุอุมัรและอีกบทหนึ่งรายงานโดยอิบนุอับบาส บินอับดุลมุลฏอลิบ)การศรัทธาในอัลลอฮฺความหมายในองค์รวม คือ การศรัทธาทั้งหมดที่เกี่ยวโยงกับหลักการแห่งความเป็นเตาฮีด(ความเป็นเอกภาพของอัลลอฮฺ)รวมถึงการศรัทธาในหลักการที่กำหนดในอัลกรุอาน(อัลกรุอาน2:24)หลักการอีมานและอามัลเป็นหลักการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า มนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสังคมในอิสลาม
            หลักการอีมานและอามัลเป็นที่มาของระบบความสัมพันธ์เชิงเกี่ยวโยงในอิสลามคือ อะไรก็ตามที่ถูกบัญญัติโดยอัลลอฮฺในอัลกรุอานแล้วจะถูกปฏิบัติโดยท่านศาสดาโดยทันที ซึ่งสองส่วนนี้เป็นสิ่งที่มุสลิมต้องศรัทธาและปฏิบัติตามแบบอย่างไม่มีข้อสงสัยใดๆทั้งสิ้น Syed Maolana Maodude(1990)ได้กล่าวเชิงเปรียบเทียบระบบความสัมพันธ์ในลักษณะที่เชื่อมโยงกับระหว่างสองหลักการว่าเสมือนหนึ่งส่วนหนึ่งนั้นเป็นรากและอีกส่วนหนึ่งเป็นผล การแยกขาดออกจากกันระหว่างทั้งสองคือ ความหายนะ หลักการอีมานและอามัลจึงเป็นหลักการเบื้องต้นที่จะทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจในหลักการพื้นฐานอันเป็นที่มาของกระบวนทัศน์อิสลามที่เกี่ยวกับผู้หญิงให้มีความชัดเจนขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น