บทที่ 4
เป็นหนังสือที่ใช้สอนใน ของคณะอิสลามศึกษา มอ.ปัตตานี
โดย อาจารย์ อับดุลเลาะ การีนา มีทั้งหมด 7บท ต่อมาด้วยหะดีษต่างๆอีก 4 บทนะ
สะนัดและมะตัน
หัวข้อย่อย | วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ |
1. ที่มาของสะนัด 2. สะนัดและความหมาย 3. ความประเสริฐของสะนัด 4. รุ่นต่าง ๆ ของนักรายงานหะดีษ 5. ประเภทของสะนัด 6. มะตันและความหมาย 7. ลักษณะของมะตันหะดีษ | 1. เข้าใจที่มาของสะนัด 2. เข้าใจความหมายของสะนัด 3. เข้าใจความประเสริฐของสะนัด 4. เข้าใจรุ่นของนักรายงานหะดีษ 5. เข้าใจประเภทของสะนัด 6. เข้าใจความหมายของมะตัน 7. เข้าใจลักษณะของมะตันหะดีษ |
พึงรู้เป็นการเบื้องต้นไว้ว่า หะดีษของท่านนบีมุฮัมมัด r ที่ถูกถ่ายทอดมาถึงตัวเรานั้นต้องประกอบด้วยสองส่วน คือ สะนัดและมะตัน ตัวอย่าง
حدثنا أبو بكر بن إسحاق، أخبرنا ابن أبي مريم، أخبرنا محمد بن جعفر، قال أخبرني العلاء بن عبد الرحمن بن يعقوب بن الحُرَقَة، عن أبيه، عن أبي هريرة رضي الله عنه قال : قال رسول الله صلى الله عليه وسلم : (( من علامات المنافق ثلاثة؛ إذا حدث كذب، وإذا وعد أخلف، وإذا ائتمن خان ))
ความว่า จากอะบูฮุรัยเราะฮฺ t กล่าวว่า เราะสูลุลลอฮฺ r กล่าวว่า “เครื่องหมายบางอย่างของคนมุนาฟิกนั้นมี 3 ประการ คือ เมื่อเขาพูดเขาจะพูดโกหก เมื่อเขาสัญญา เขาจะผิดสัญญา และเมื่อเขาได้รับความไว้วางใจ เขาก็บิดพลิ้ว” (รายงานโดยมุสลิม : 2/47)
คำอธิบายตัวอย่าง
- สะนัดหะดีษ
حدثنا أبو بكر بن إسحاق، أخبرنا ابن أبي مريم، أخبرنا محمد بن جعفر، قـال أخبرني العلاء بن عبد الرحمن بن يعقوب بن الحُرَقَـة، عن أبيـه، عن أبي هريرة رضي الله عنه
แปลว่า อะบูบักรฺ เบ็ญ อิสหากฺได้เล่ากับพวกเราว่า อิบนุ อะบีมัรยัมได้รายงานแก่พวกเราว่า มุฮัมมัด เบ็ญ ญะอฺฟัรได้รายงานแก่พวกเราว่า ท่านกล่าวว่า อัลอะลากฺ เบ็ญ อับดุลเราะหฺมาน เบ็ญ ยะอฺกูบ อัลคุเราะเกาะฮฺได้รายงานแก่ฉัน จากบิดาของท่าน จากอะบูฮุรอยเราะฮฺ
- มะตันหะดีษ
(( من علامـات المنـافق ثلاثـة؛ إذا حـدث كذب، وإذا وعـد أخلف، وإذا ائتمن خان ))
ความว่า “เครื่องหมายบางอย่างของคนมุนาฟิกนั้นมี 3 ประการ คือ เมื่อเขาพูดเขาจะพูดโกหก เมื่อเขาสัญญา เขาจะผิดสัญญา และเมื่อเขาได้รับความไว้วางใจ เขาก็บิดพลิ้ว”
การรายงานหะดีษทั้งสะนัดและตัวบทเช่นนี้ก็ได้มีการปฏิบัติกันในกลุ่มของ นักหะดีษตั้งแต่สมัยเศาะหาบะฮฺจนถึงปัจจุบัน แต่ก็มีอุละมาอฺบางท่านได้รายงานหะดีษโดยมิได้กล่าวอ้างสะนัดนอกจากกล่าวเพียงศอหาบะฮฺเท่านั้น
ส่วนที่ 1 สะนัดหะดีษ
อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ว่า
] إئتوني بكتاب من قبل هذا أو أثارة من علم [
ความว่า “จงนำมาแก่ฉันซึ่งกิตาบก่อนหน้านี้เถิด หรือการรายงานบางส่วนของวิชาความรู้” (อัลอะหฺก๊อฟ : 4)
อับดุลวะฮาบ เบ็ญอับดุลละตีฟ (1968) อธิบายว่า คำดำรัส [ أثارة ) ความว่า “ร่องรอย” มะฏ๊อร อัลวัรร้อกได้อธิบายว่า คำนี้หมายถึง อิสนาดหะดีษ
1. นิยาม
ตามหลักภาษาศาสตร์
คำว่า سَنَدٌ (สะนัด) เป็นคำเอกพจน์ แปลว่า สายรายงานหรือสายสืบ พหูพจน์ คือ إِسْنَادٌ (อิสนาด) หมายถึง การถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง
ตามหลักวิชาการ
มีทัศนะอุละมาอฺหลายทัศนะด้วยกันที่ได้อธิบายความหมายของสะนัด ขอยก ตัวอย่างในที่นี้เพียงบางส่วนเท่านั้น
1. อิมามอัสสะคอวีย์ กล่าวว่า สะนัด หมายถึง สายรายงานที่จะนำเข้าสู่มะตัน (ตัวบทหะดีษ)
2. อิมามอิบนุ ญะมาอะฮฺ กล่าวว่า อิสนาด หมายถึง การรายงานหะดีษพร้อมกับระบุผู้รายงาน และคำว่าสะนัด คือ สายสืบที่นำเข้าสู่มะตันหะดีษ
3. ชัยคฺซะกะริยา กล่าวว่า สะนัดหรืออิสนาดมักจะถูกใช้ในความหมายเดียวกัน ในกลุ่มของนักหะดีษ ทั้งสองคำนี้จะใช้เป็นคำตัดสินชี้ขาดต่อระดับของหะดีษ เพื่อแยกระหว่างหะดีษที่ถูกต้องและหะดีษที่ไม่ถูกต้อง
จากทัศนะของอุละมาอฺข้างต้นพอสรุปได้ว่า สะนัดหรืออิสนาด หมายถึง สายรายงานเพื่อนำสู่ตัวบทหะดีษที่สามารถจะพิสูจน์เป็นหะดีษที่แท้จริงหรือไม่
2. ความประเสริฐของสะนัด
สะนัดหรืออิสนาดมีความประเสริฐที่เด่นชัด เนื่องจากด้วยสะนัดสามารถปกป้องบทบัญญัติจากการปะปน เบี่ยงเบน อุตริกรรม และการโกหกของผู้หนึ่งผู้ใดที่ไม่ประสงค์ดีต่ออัลอิสลาม การพูดถึงเรื่องสะนัดไม่เคยปรากฏมาก่อนในศาสนาอื่นๆ เว้นแต่ในอิสลามเท่านั้น บรรดาอุละมาอฺได้สาธยายถึงความประเสริฐของสะนัดไว้มากมายและ ยังได้ให้ความสำคัญต่อสะนัดมาก ซึ่งจะขอกล่าวในที่นี้เพียงบางส่วนเท่านั้น
1. อิมามอับดุลเลาะ เบ็ญ อัลมุบาร๊อก กล่าวว่า “อิสนาดเป็นส่วนหนึ่งของศาสนา หากไม่มีอิสนาดแล้วผู้ใดก็สามารถจะกล่าวถึงเรื่องศาสนาตามความต้องการของตนเอง” แม้การกล่าวเท็จต่อเราะสูลุลลอฮฺ r ด้วยวิธีการพาดพิงหะดีษถึงท่านก็ตาม
2. อิมามอัลฮากิมได้อธิบายว่า “หากไม่มีกลุ่มหนึ่งในจำนวนอุละมาอฺหะดีษที่ปกป้องอิสนาด แน่นอนความเข้มแข็งของอิสลามจะไม่ยั่งยืนจนถึงทุกวันนี้ ทั้งยังเป็นการเปิดช่องทางให้แก่กลุ่มมุลฮิด (พวกปฏิเสธศรัทธา) และนักอุปโลกน์ในเรื่องศาสนาได้ทำการกุหะดีษขึ้นมาอย่างสะดวกสบาย และสับเปลี่ยนอิสนาดหะดีษได้สะดวกขึ้น”
3. อิมามอัชชาฟิอีย์ กล่าวว่า “เปรียบเทียบผู้เรียนหะดีษโดยไม่มีสะนัดนั้นเสมือนกับผู้ที่ตัดไม้ในเวลากลางคืน บางทีเขาจะตัดแค่ยอดไม้อย่างเดียวก็ได้”
4. อิมามอะฮฺมัด เบ็ญฮันบัลกล่าวว่า “อิสนาดเป็นแนวทางของบรรดาอุละมาอฺสะลัฟ” เพราะพวกเขายอมรับหะดีษด้วยวิธีการพิจารณาสะนัดและองค์ประกอบของ สะนัดเป็นหลัก หากไม่สามารถยืนยันในความถูกต้องของสะนัดก็จะไม่มีการรับฟังหะดีษตลอดจนให้การยอมรับหะดีษโดยเด็ดขาด
ดังนั้น อิสนาดที่มาจากการรายงานของคนซีเกาะห์ (เชื่อถือได้) จนถึงท่านนบีนั้นเป็นจุดเด่นของประชาชาติอิสลามและความแตกต่างจากบรรดาประชาชาติทั้งหมดอีกด้วย การรายงานด้วยวิธีการสะนัดและการรับคำบอกเล่าของคนในแต่ละช่วงโดยการถ่ายทอดจากคนแรกจนถึงคนสุดท้ายยังไม่มีในประชาชาติก่อน ๆ แต่เนื่องด้วยวิธีการอย่างนี้ทำให้การรับข่าวหรือเรื่องเล่าขานถูกต้องและชัดเจนยิ่งขึ้นอีกด้วย
3. รุ่นของผู้รายงาน
สะนัดหรืออิสนาดของหะดีษประกอบด้วยผู้รายงานจากหลายรุ่นในทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่สมัยเศาะหาบะฮฺจนถึงสมัยของการบันทึกหะดีษ แต่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมีสี่รุ่น ด้วยกัน คือ รุ่นเศาะหาบะฮฺ รุ่นตาบิอีน รุ่นตาบิอฺ ตาบิอีน และรุ่นอัตบาอฺ ตาบิอฺ ตาบิอีน
รุ่นที่หนึ่ง รุ่นเศาะหาบะฮฺ
1. ความหมายของเศาะหาบะฮฺ
เศาะหาบะฮฺตามหลักภาษาศาสตร์ เป็นอาการนามมาจากคำว่า “ صَحِبَ ” เหมือนกับคำว่า “ سَمِعَ ” อาจเป็นคำพหูพจน์และคำเอกพจน์ก็ได้ ซึ่งแปลว่า เพื่อน สหาย อัครสาวก ผู้ติดตามหรือผู้ที่เข้าใจคนอื่น
ความหมายตามหลักภาษาอาหรับสามารถนั้นจะใช้ทั้งในลักษณะทั่วไป เช่น ใช้กับคนที่ไม่ใช่นบีมุฮัมมัด r และยังสามารถใช้ในลักษณะเฉพาะเจาะจง เช่น ใช้กับนบีมุฮัมมัด r
ส่วนความหมายเศาะหาบะฮฺตามหลักวิชาการ อัลอัสเกาะลานีย์ให้ความหมายว่า “เศาะหาบะฮฺ คือ ผู้ที่พบเห็นท่านนบีมุฮัมมัด r ศรัทธาต่อท่าน และเสียชีวิตในขณะที่เป็นมุสลิม” ในทางตรงกันข้ามผู้ใดที่ไม่ได้พบเห็นและไม่ได้ศรัทธาต่อท่านนบีมุฮัมมัด r ไม่เรียกว่า เศาะหาบะฮฺ เช่นเดียวกันกับบุคคลที่เห็นท่านนบีมุฮัมมัดหลังจากท่านเสียชีวิตไปแล้วถึงแม้ว่าเขาศรัทธาต่อท่านนบีก็ตาม
2. คุณลักษณะของเศาะหาบะฮฺ
บรรดาเศาะหาบะฮฺเป็นคนที่มีคุณธรรม ไม่ว่าพวกเขาได้สัมผัสกับฟิตนะฮฺหรือไม่ก็ตาม เป็นทัศนะของอุละมาอฺส่วนใหญ่ มีหลักฐานชัดเจนมากมายสามารถยืนยันในความ อะดาละฮฺของบรรดาเศาะหาบะฮฺ
ก. อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ว่า
] والسـابقون الأولون من المهـاجرين والأنصـار والذين ابتعوهم بإحسان رضي الله عنهم ورضوا عنه وأعد لهم جنات تجري من تحتها الأنهار خالدين فيها أبداً ذلك الفوز العظيم [
ความว่า “และบรรดาชนรุ่นแรกจากกลุ่มมุฮาญิรีนและกลุ่มอันศอร และผู้ที่ติดตามพวกเขาด้วยความอ่อนโยน ได้รับความชอบธรรมจากอัลลอฮฺและพวกเขาน้อมรับดังกล่าว และพระองค์ทรงเตรียมสวรรค์สำหรับพวกเขา ซึ่งใต้มันมีลำธารไหลเชี่ยว พวกเขาจะอยู่ในสวรรค์อย่างถาวร นั่นคือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขา” (ซูเราะฮฺอัลเตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 100)
การบ่งบอกของอายะฮฺถึงคุณธรรมของบรรดาเศาะหาบะฮฺ คือ การที่บรรพชน รุ่นก่อนได้ปฏิบัติในศีลธรรมและจริยธรรมในทุกๆอิริยาบถทั้งการกล่าวและการปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ Y และเราะสูลุลลอฮฺ r
ข. อะบูสะอีด อัลคุดรีย์ได้รายงานว่า ท่านนบีมุฮัมมัด r ได้กล่าวในลักษณะห้ามปฏิบัติหรือกล่าวสิ่งไม่สมควรทุกประการต่อบรรดาเศาะหาบะฮฺ
عن أبي سعيد الخدريّ رضي الله عنه قال : قال رسول الله صلى الله عليه وسلم : (( لا تسبوا أحداً من أصحابي، فإن أحدكم لو أنفق مثل أُحُدٍ ذهباً ما أدرك مد أحدهم ولا نصيفه ))
ความว่า จากอะบูสะอีด อัลคุดรีย์ t กล่าวว่า เราะสูลุลลอฮฺ r กล่าวว่า “พวกเจ้าอย่าสาปแช่งเศาะหาบะฮฺของฉันแม้แต่คนเดียว เนื่องจากคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกเจ้าหากบริจาคทองหนักเท่าภูเขาอุฮูด แน่นอนพวกเจ้าไม่สามารถเทียบเท่ากับพวกเขาได้หรอกและแม้แต่บางส่วนเท่านั้นก็ตาม” (อัลบุคอรีย์ : 11/256 และมุสลิม : 10/123)
ค. บรรดาอุละมาอฺมีความเห็นพ้องกันว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺนั้นเป็นผู้ที่มีคุณธรรมและซื่อสัตย์โดยได้รับการรับรองจากอัลลอฮฺและท่านนบีเอง เว้นแต่คนบางกลุ่มเท่านั้น ที่ไม่ยอมรับในความอะดาละฮฺของเศาะหาบะฮฺ เช่น กลุ่มชีอะฮฺและกลุ่มรอฟิเฏาะฮฺ
3. รุ่นต่าง ๆ ของเศาะหาบะฮฺ
โดยทั่วไปแล้ว บรรดาเศาะหาบะฮฺนั้นแบ่งออกเป็นสองรุ่นด้วยกันคือ เศาะหาบะฮฺรุ่นอาวุโสและเศาะหาบะฮฺรุ่นเล็ก
เศาะหาบะฮฺรุ่นอาวุโสประกอบด้วย เศาะหาบะฮฺสิบท่าน ที่ท่านนบีให้การรับรองจะได้เข้าสวรรค์อย่างแน่นอน ผู้ศรัทธาในสมัยมักกะฮฺ ผู้ที่อพยพไปยังเมืองหาบะชะฮฺ ผู้ที่เข้าร่วมในคราวทำสนธิสัญญาอัลอะเกาะเบาะฮฺครั้งแรกและครั้งที่สอง ผู้ที่อพยพระหว่างสงครามบัดรฺและสงครามฮุดัยบิยะฮฺ บรรดาผู้เข้าร่วมในสงครามทุกประเภท และอื่น ๆ
เศาะหาบะฮฺรุ่นเล็ก คือ บรรดาเศาะหาบะฮฺที่ได้เห็นท่านนบีในวันสงครามฟัตหฺและวันทำฮัจญ์วะดาอฺ เช่น อัสสาอิบ เบ็ญยะซีด อัลกัลบีย์ อัลหะซันและอัลฮุซัยน เบ็ญอาลี เบ็ญอะบีฏอลิบ อัลดุลเลาะ เบ็ญอัซซุบัยรฺ อับดุลเลาะ เบ็ญอับบาส เป็นต้น
4. เศาะหาบะฮฺผู้ที่รายงานหะดีษเป็นจำนวนมาก
บรรดาเศาะหาบะฮฺเป็นผู้รายงานหะดีษรุ่นแรก แต่ก็มีความแตกต่างอยู่บ้างขึ้นอยู่กับความจำและความสามารถของแต่ละท่าน เศาะหาบะฮฺบางท่านได้รายงานหะดีษเป็นจำนวนมากและบางท่านรายงานหะดีษได้น้อยกว่า แต่ที่จะกล่าวในที่นี้เฉพาะบรรดา เศาะหาบะฮฺที่รายงานหะดีษเป็นจำนวนมากเท่านั้น มีรายนามดังนี้
1. อะบูฮุรอยเราะฮฺ (59 ฮ.ศ.) รายงานหะดีษ 5,735 หะดีษ
2. อับดุลเลาะ เบ็ญ อุมัร (73 ฮ.ศ.) รายงานหะดีษ 2,630 หะดีษ
3. อะนัส เบ็ญ มาลิก (93 ฮ.ศ.) รายงานหะดีษ 2,286 หะดีษ
4. อาอิชะฮฺ อุมมุลมุมินีน (58 ฮ.ศ.) รายงานหะดีษ 2,210 หะดีษ
5. อับดุลเลาะ เบ็ญอับบาส (68ฮ.ศ.) รายงานหะดีษ 1,660 หะดีษ
6. ญาบิร เบ็ญอับดุลเลาะ (78 ฮ.ศ.) รายงานหะดีษ 1,540 หะดีษ
7. อะบูสะอีด อัลคุดรีย์ (74 ฮ.ศ.) รายงานหะดีษ 1,170 หะดีษ
และอื่น ๆ ตามลำดับ
พึงรู้ไว้ว่า ในบรรดาศอหาบะฮฺที่เป็นนักรายงานหะดีษที่ชื่อ อับดุลเลาะ มีประมาณ 300 ท่าน แต่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเพียง 4 ท่านเท่านั้น ซึ่งทั้งสี่ท่านนี้มีฉายานามว่า العُبَـادِلَة (อัลอุบาดิละฮฺ) คือ
1. อับดุลเลาะ เบ็ญ อับบาส (68 ฮ.ศ.)
2. อับดุลเลาะ เบ็ญ อุมัร เบ็ญ อัลค๊อฏฏอบ (73 ฮ.ศ.)
3. อับดุลเลาะ เบ็ญ อัซซุบัยรฺ (73ฮ.ศ.)
4. อับดุลเลาะ เบ็ญ อัมรฺ เบ็ญ อัลเอาศฺ (65ฮ.ศ.)
อุละมาอฺบางท่านมีความเห็นว่า อับดุลเลาะ เบ็ญ มัสอูด นับเป็นอุบาดิละฮฺแทน อับดุลเลาะ เบ็ญ อัมรฺ เบ็ญเอาศฺ
บรรดาเศาะหาบะฮฺที่เป็นนักรายงานที่ถ่ายทอดหะดีษด้วยความบริสุทธิ์ใจ ซื่อสัตย์ และด้วยความอะมานะฮฺ โดยการถ่ายทอดตัวบทที่เป็นคำพูด การปฏิบัติ การยอมรับคำกล่าวทั้งซิกรฺและดุอาอฺในทุกอิริยาบถของท่านนบีมุฮัมมัด r ตามความรู้ของพวกเขา
รุ่นที่สอง รุ่นตาบิอีน
1. ความหมายของตาบิอีน
ตามหลักภาษาศาสตร์คือ ผู้ที่เดินตามหลัง หรือผู้ที่เจริญรอยตามคนอื่น
ตามหลักวิชาการ คือ ผู้ที่พบเห็นเศาะหาบะฮฺ ศรัทธาต่อท่านนบีมุฮัมมัด r และเสียชีวิตในขณะที่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นทัศนะของอุละมาอฺบางท่าน ตามทัศนะของอุละมาอฺส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ตาบิอีน คือ ผู้ที่พบเห็นเศาะหาบะฮฺหนึ่งคนหรือมากกว่า ศรัทธาต่อท่านนบี r และเสียชีวิตในอิสลาม (อัสสุยูฏีย์ : 2/69)
ทั้งสองทัศนะนี้ไม่มีความขัดแย้งระหว่างกัน แต่เป็นการอธิบายซึ่งกันและกัน จะเห็นได้ว่า ทัศนะที่สองพูดในลักษณะของการพบเห็นของตาบิอีนกับเศาะหาบะฮฺ ในขณะที่ทัศนะที่หนึ่งนั้นกล่าวถึงการรับหะดีษระหว่างตาบิอีนกับเศาะหาบะฮฺ
2. ผู้รายงานหะดีษ
ผู้รายงานหะดีษในรุ่นตาบิอีนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ
1. อิบรอเฮ็ม เบ็ญ ยะซีด อันนะคออีย์ (96 ฮ.ศ.)
2. อามิร เบ็ญ ชะระฮบิล อัชชุอฺบีย์ (103 ฮ.ศ.)
3. สาลิม เบ็ญ อับดุลเลาะ เบ็ญอุมัร (106 ฮ.ศ.)
4. มุฮัมมัด เบ็ญ สีรีน (110 ฮ.ศ.)
5. นาฟิอฺ เมาลาอิบนุอุมัร (117ฮ.ศ.)
6. มุฮัมมัด เบ็ญ ชิฮาบ อัซซุฮรีย์ (124 ฮ.ศ.)
7. อัลกอมะฮฺ เบ็ญ กัอยสฺ อันนะคออีย์ (162 ฮ.ศ.)
3. นักฟิกฮฺทั้งเจ็ดท่าน
จากรุ่นตาบิอีนพบว่ามีกลุ่มหนึ่งที่เป็นชาวมะดีนะฮฺที่มีชื่อเสียงมากเป็นคนอาลิมทั้งในด้านหะดีษและฟิกฮฺอิสลามีย์ (กฎหมายอิสลาม) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม อัลฟุเกาะฮาอฺ อัซซับอะฮฺ (อัลอิรอกีย์ : 231)
1. สะอีด เบ็ญ อัลมุสัยยิบ (94 ฮ.ศ.)
2. อุรวะฮฺ เบ็ญ อัซซุบัยร (94 ฮ.ศ.)
3. อะบูสะละมะฮฺ เบ็ญ อับดุลเราะห์มาน (94 ฮ.ศ.)
4. อุบัยดุลเลาะ เบ็ญ อับดุลเลาะ เบ็ญอุตบะฮฺ (98 ฮ.ศ.)
5. คอริญะฮฺ เบ็ญ ซัยด (100 ฮ.ศ.)
6. อัลกอซิม เบ็ญ มุฮัมมัด (106 ฮ.ศ.)
7. สุลัยมาน เบ็ญ ยะซาร (110 ฮ.ศ.)
4. ชาวมุค๊อดรอมูน
คำว่า “مخضرمون” (มุค๊อดรอมูน) เป็นคำพหูพจน์ของคำว่า مخضرم ซึ่งเป็นเผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศเยเมน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หัดรอเมาตฺ
อัลมุค๊อดรอมูน หมายถึง ผู้ที่มีชีวิตอยู่ในสมัยญะฮิลิยะฮฺและสมัยของท่านนบีมุฮัมมัด r แต่พวกเขาเหล่านี้ไม้ได้พบเห็นท่านนบี r เข้ารับนันถือศาสนาอิสลาม อิมามมุสลิมระบุว่า “ชาวมุค๊อดรอมูนมีจำนวนไม่มากประมาณ 20 ท่าน” (มะหฺมูด อัตเฏาะหฺหาน : 231)
5. จำนวนรุ่นของตาบิอีน
อุละมาอฺตาบิอีนโดยรวมแล้วแบ่งออกเป็น 3 รุ่นด้วยกันคือ
รุ่นที่ 1 ตาบิอีนรุ่นอาวุโส
ตาบิอีนรุ่นอาวุโส คือ ผู้ที่พบเห็นเศาะหาบะฮฺ ได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ ของศาสนาและ รับหะดีษโดยตรงจากเศาะหาบะฮฺ เช่น สะอีด เบ็ญ อัลมุสัยยิบ กอยสฺ เบ็ญซัยดฺ เป็นต้น
รุ่นที่ 2 ตาบิอีนรุ่นกลาง
ตาบิอีนรุ่นกลางคือ ผู้ที่พบเห็นเศาะหาบะฮฺบางท่านเท่านั้นโดยเฉพาะเศาะหาบะฮฺรุ่นเล็กและร่วมสมัยกับตาบิอีนรุ่นอาวุโส เช่น อัลหะซันอัลบัศรีย์ มุฮัมมัด เบ็ญ สีรีน อิมาม อัซซุฮฺรีย์ และเกาะตาดะฮฺ เป็นต้น ตาบิอีนรุ่นนี้เป็นอุละมาอฺที่มีชื่อเสียงในการรายงานและบันทึกหะดีษ
รุ่นที่ 3 ตาบิอีนรุ่นเล็ก
ตาบิอีนรุ่นเล็ก คือ ผู้ที่พบเห็นตาบิอีนรุ่นกลางและร่วมสมัยกับเศาะฮาบะฮฺรุ่นเล็กบางท่าน พวกเขาไม่ได้พบเห็นเศาะหาบะฮฺรุ่นอาวุโส เช่น อัลอะอฺมัช อิบนุ ญุรัอยจญ์ อิมาม อะบูหะนีฟะฮฺ เป็นต้น
ผู้รายงานหะดีษในรุ่นตาบิอีนทั้งหมดเป็นผู้รายงานซึ่งอยู่ในช่วงกลางของสะนัด บางสะนัดจะพบว่าในรุ่นนี้จะมีผู้รายงานหะดีษติดต่อกันถึงสองหรือสามท่าน คุณลักษณะของตาบิอีนผู้เป็นนักรายงานหะดีษมีทั้งที่เป็นษิเกาะฮฺ เศาะดูกฺ เฎาะอีฟ มัจฮูล ฟาสิก และโกหก เป็นต้น
รุ่นที่สาม รุ่นตาบิอฺ ตาบิอีน
1. ความหมายของตาบิอฺ ตาบิอีน
ตามหลักภาษาศาสตร์ คือ ผู้ที่เดินตามหลังชนรุ่นก่อน
ตามหลักวิชาการ คือ ผู้ที่พบเห็นตาบิอีน ศรัทธาต่อท่านนบีมุฮัมมัด r และเสียชีวิตในอิสลาม พวกเขาไม่ได้พบเห็นท่านนบี r และไม่ได้พบเห็นเศาะหาบะฮฺ (มะหฺมูด อัตเฏาะหฺหาน หน้า 231)
2. ผู้รายงานหะดีษ
ผู้รายงานหะดีษจากรุ่นตาบิอฺตาบิอีนที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักกันในหมู่ นักวิชาการและสังคมมุสลิมก็คือ
1. ซุฟยาน เบ็ญ สะอีด อัสเษารีย์ (161ฮ.ศ.)
2. อิมามมาลิก เบ็ญ อะนัส (179 ฮ.ศ.)
3. วะกีอฺ เบ็ญ อัลญัรรอหฺ (190 ฮ.ศ.)
4. ซุฟยาน เบ็ญ อุยัยนะฮฺ (198 ฮ.ศ.)
5. ฎอมิเราะฮฺ เบ็ญ เราะบีอะฮฺ (202 ฮ.ศ.)
6. อิมามมุฮัมมัด เบ็ญ อิดริส อัชชาฟิอีย์ (204 ฮ.ศ.)
7. อัลฟัฎลฺ เบ็ญ ดุกัอยนฺ (218 ฮ.ศ.)
8. มุสัดดัด เบ็ญ มุซัรฮัด (220 ฮ.ศ.)
อุละมาอฺตาบิอฺ ตาบิอีน ส่วนมากเป็นผู้รายงานที่มีความจำในระดับดีหรือดีเยี่ยมและเป็นผู้รายงานที่มีความรู้แม่นยำทั้งในด้านการรายงานและการท่องจำหะดีษตลอดจนมีความสามารถในการวิเคราะห์ด้านคุณธรรมและความบกพร่องของผู้รายงานหะดีษทุกคนตั้งแต่ช่วงต้นจนถึงช่วงสุดท้ายของสะนัด
3. รุ่นต่าง ๆ ของตาบิอฺ ตาบิอีน
อุลามาอฺตาบิอฺ ตาบิอีน ที่เป็นผู้รายงานหะดีษ ตั้งแต่บุคคลแรกจนถึงบุคคลสุดท้ายที่เสียชีวิตแบ่งออกเป็น 3 รุ่นคือ
รุ่นที่ 1 ตาบิอฺ ตาบิอีนรุ่นอาวุโส
ตาบิอฺ ตาบิอีนรุ่นอาวุโส คือ ผู้ที่พบเห็นตาบิอีน ได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ ของศาสนาและรับหะดีษโดยตรงจากตาบิอีน เช่น อิมามมาลิก เบ็ญอะนัส ซุฟยาน อัซเษารีย์ เป็นต้น
รุ่นที่ 2 ตาบิอฺ ตาบิอีนรุ่นกลาง
ตาบิอฺ ตาบิอีนรุ่นกลาง คือ ผู้ที่พบเห็นรุ่นตาบิอีนบางท่านเท่านั้นและร่วมสมัยกับตาบิอีนรุ่นอาวุโส เช่น ซุฟยาน เบ็ญอุยัยนะฮฺ อิบนุ อุลัยยะฮฺ เป็นต้น
รุ่นที่ 3 ตาบิอฺ ตาบิอีนรุ่นเล็ก
ตาบิอฺ ตาบิอีนรุ่นเล็ก คือ ผู้ที่ได้พบเห็นและร่วมสมัยเดียวกันกับตาบิอฺ ตาบิอีน รุ่นกลาง แต่พวกเขาไม่ได้พบเห็นเศาะหาบะฮฺ เช่น อิมามอัชชาฟิอีย์ อะบูดาวูด อัตตอยาลิซีย์
4. สถานภาพของนักรายงาน
สถานภาพโดยทั่วไปของรุ่นตาบิอฺ ตาบิอีน มีทั้งผู้รายงานที่เชื่อถือได้ในการรายงานหะดีษและมีผู้ที่เชื่อถือไม่ได้ เนื่องจากหลายสาเหตุด้วยกันเช่น ความจำไม่ดี ปกปิดอาจารย์ ไม่เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นผู้รายงานหะดีษ เป็นคนโกหก เป็นต้น
รุ่นที่สี่ รุ่นอัตบาอฺ ตาบิอฺ ตาบิอีน
1. ความหมายของอัตบาอฺ ตาบิอฺ ตาบิอีน
ตามหลักภาษา คือ ผู้ที่เดินตามหลังชนรุ่นก่อนพวกเขา
ตามหลักวิชาการ คือ ผู้ที่ได้พบเห็นรุ่นตาบิอฺ ตาบิอีน ศรัทธาต่อท่านนบีมุฮัมมัด r และเสียชีวิตในขณะที่นับถือศาสนาอิสลาม
2. ผู้รายงานหะดีษ
ผู้ที่มีชื่อเสียงในการรายงานหะดีษของอุละมาอฺรุ่นนี้มีมากมายแต่ที่จะกล่าวในที่นี้เป็นตัวอย่างเพียงบางท่านเท่านั้น ในจำนวนนี้มีคณาจารย์ของอิมามทั้งหกด้วย เช่น
1. หัฟศ เบ็ญ อุมัร (225 ฮ.ศ.)
2. อับดุลเลาะ เบ็ญ มุฮัมมัด อันนุฟัยลีย์ (234 ฮ.ศ.)
3. อะบูบักร เบ็ญ อะบีชัยบะฮฺ (239 ฮ.ศ.)
4. มุฮัมมัด เบ็ญ อัลอะลาอฺ (247 ฮ.ศ.)
4. มุฮัมมัด เบ็ญ ยะหฺยา เบ็ญฟาริส (255 ฮ.ศ.)
5. มุฮัมมัด เบ็ญ บะซาร (250 ฮ.ศ.)
อุละมาอฺรุ่นนี้ส่วนมากแล้วจะอยู่ในช่วงท้ายของสะนัดหะดีษ (สายรายงาน) ในบรรดานักรายงานทั้งสามช่วงของสะนัด
3. รุ่นต่าง ๆ ของอัตบาอฺ ตาบิอฺ ตาบิอีน
ผู้รายงานหะดีษในรุ่นอัตบาอฺ ตาบิอฺ ตาบิอีนแบ่งออกเป็น 3 รุ่น ดังนี้
รุ่นที่ 1 อัตบาอฺ ตาบิอฺ ตาบิอีนรุ่นอาวุโส คือ ผู้ที่พบเห็นตาบิอฺ ตาบิอีน เช่น อิมาม อะหฺมัด เบ็ญ หันบัล อะบูบักร อิบนุ อะบีชัยบะฮฺ เป็นต้น
รุ่นที่ 2 อัตบาอฺ ตาบิอฺ ตาบิอีนรุ่นกลาง คือ ผู้ที่พบเห็นตาบิอฺ ตาบิอีนและร่วมสมัยกับตาบิอฺ ตาบิอีนรุ่นกลาง
รุ่นที่ 3 อัตบาอฺ ตาบิอฺ ตาบิอีนรุ่นเล็ก คือ ผู้ที่พบเห็นและร่วมสมัยกับตาบิอฺ ตาบิอีนรุ่นเล็ก แต่พวกเขาไม่ได้พบเห็นตาบิอฺ ตาบิอีนรุ่นอาวุโส
4. สถานภาพของนักรายงานหะดีษ
ผู้รายงานหะดีษทั้งสามรุ่นหรือสี่รุ่นดังที่กล่าวข้างต้น คือ สุดยอดของนักรายงานหะดีษโดยที่พวกเขาเหล่านั้นได้ทุ่มเทความพยายามอย่างสูงในการรวบรวมหะดีษ วิธีการที่ใช้เป็นวิธีการที่ยอดเยี่ยม ได้วางรากฐานที่เกี่ยวกับหลักการและระเบียบต่าง ๆ ในการรายงาน หะดีษ ในช่วงระยะดังกล่าวบรรดาอุละมาอฺเหล่านี้ก็ได้สะสมผลงานที่น่ายกย่องเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในสาขาวิชาหะดีษ ดังนี้
หนึ่ง ติดตามสายรายงานหะดีษ
สอง ให้การยอมรับตัวบทหะดีษ
สาม วิเคราะห์สถานภาพของผู้รายงานแต่ละคนจนสามารถแยกระหว่าง ผู้รายงานที่มีคุณธรรมกับผู้รายงานที่ฟาสิก
ถึงอย่างไรก็ตาม เรื่องสะนัดหรือสายรายงานหะดีษเป็นเรื่องที่สำคัญในบรรดาเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาหะดีษ จากการศึกษาเรื่องสะนัดอย่างจริงจังทำให้ทราบว่า บรรดาอุลามาอฺหะดีษสามารถจำแนกหะดีษออกเป็นหลายระดับ เช่น หะดีษเศาะหีหฺ หะดีษเฎาะอีฟ และหะดีษเมาฎูอฺ หะดีษที่แข็งแรงและหะดีษอ่อน หะดีษที่ใช้ได้และหะดีษที่ใช้ไม่ได้ ยะหฺยา เบ็ญ สะอีด อัลค๊อตฏอน กล่าวตอบคำถามที่ว่า “คุณไม่กลัวหรือที่คุณได้ตำหนิและไม่ยอมรับหะดีษจากการรายงานของพวกเขา (ผู้รายงานที่มีความบกพร่อง) ซึ่งจะเป็นผู้ที่โต้แย้งท่าน ณ อัลลอฮฺในวันกิยามะฮฺ? ท่านยะหฺยาตอบว่า ฉันคิดว่าการโต้ตอบของพวกเขาในเรื่องดังกล่าวดีกว่าที่ท่านนบีจะตำหนิฉันด้วยคำกล่าวของท่านนบีมุฮัมมัด r ที่ว่า “ทำไมท่านเป็นผู้โกหกต่อหะดีษของฉัน” (มุศฏอฟา อัสสิบาอีย์ หน้า 98)
4. ประเภทของสะนัด
หะดีษทุกบทเมื่อพิจารณาสายรายงานตั้งแต่ต้นสะนัดจนถึงปลายสะนัด อาจจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ประเภทที่หนึ่ง สะนัดอาลีย์ (السند العالي)
สะนัดอาลีย์ หมายถึง สายรายงานที่มีผู้รายงานเป็นจำนวนน้อย หากเปรียบเทียบกับสะนัดอื่น ซึ่งบรรดาอุละมาอฺมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องจำนวนที่แน่นอนของจำนวนน้อย บางทัศนะกล่าวว่า อย่างน้อยมีสามคนและบางทัศนะระบุว่าห้าคน เช่น สะนัดของหะดีษที่บันทึกโดยอิมามมาลิก เบ็ญอะนัสในหนังสือ อัลมุวัตเฏาะอฺ
ประเภทที่สอง สะนัดนาซิล (السند النازل)
สะนัดนาซิล หมายถึง สายรายงานที่มีผู้รายงานเป็นจำนวนมาก หากเปรียบเทียบกับสะนัดอื่นที่มีผู้รายงานน้อย (มะหฺมูด อัตเฏาะหฺหาน : 180) หมายความถึง ผู้รายงานที่มีจำนวนระหว่างสามท่านหรือห้าท่านขึ้นไป ระหว่างสองประเภทสะนัดนี้ สะนัดอาลีย์จะมีฐานะสูงกว่าสะนัดนาซิล เพราะการที่หะดีษบทใดมีผู้รายงานจำนวนน้อยก็แสดงให้เห็นว่า หะดีษนั้นภายในตัวมีความแข็งแรงกว่าและมีน้ำหนักมากกว่าสายรายงานที่มีผู้รายงานเป็นจำนวนมาก
ส่วนที่ 2 มะตันหะดีษ
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า หะดีษแต่ละบทที่มาจากท่านนบีโดยผ่านกระบวนการรายงานนั้นมีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ สะนัดหะดีษและมะตันหะดีษ ส่วนที่หนึ่งก็ได้อธิบายไปแล้วก่อนหน้านี้และส่วนที่สอง คือ มะตันหะดีษ ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียด ดังต่อไปนี้
1. นิยาม
ตามหลักภาษาศาสตร์ คำว่า متن แปลว่า สิ่งที่ยกมาจากพื้นดิน
ตามหลักวิชาการ แปลว่า สิ่งที่สิ้นสุดของสะนัดจากคำพูดหรือการกระทำ
มะตันหะดีษโดยสังเกตจากความหมายแล้วสามารถพาดพิงถึงใครก็ได้เช่น มะตันหะดีษกุดสีย์ มะตันหะดีษมัรฟูอฺ มะตันหะดีษเมากูฟ และมะตันหะดีษมักฏูอฺ
2. ลักษณะของมะตันหะดีษ
เมื่อพิจารณามะตันหะดีษหรือตัวบทหะดีษโดยรวม จะเห็นได้ว่ามะตันหะดีษนั้นประกอบด้วยคำพูดหลายลักษณะหรือหลายทำนองพอสรุปได้ดังนี้
1. คำพูดที่มาจากอัลลอฮฺ Y และท่านนบีมุฮัมมัด r
2. คำพูดที่มาจากท่านนบีเพียงคำเดียว
3. คำพูดของท่านนบีผสมผสานกับคำพูดของเศาะหาบะฮฺ
4. คำพูดของท่านนบีผสมผสานกับคำพูดของตาบิอีน
5. คำพูดของคนหนึ่งคนใดแล้วพาดพิงไปยังท่านนบีมุฮัมมัด r
6. คำพูดของชาวยะฮูดีย์และนะศอรอ หรือที่เรียกว่า อิสรออีลิยะฮฺ
ทั้งนี้ คำพูดเหล่านี้จำเป็นต้องทำการศึกษาอย่างถี่ถ้วนและทำการวิเคราะห์อย่างละเอียดโดยยึดหลักทางวิชาการ เพื่อแยกแยะระหว่างคำพูดของท่านนบีมุฮัมมัด r กับคำพูดของคนอื่น
โจทย์ฝึกหัดเพิ่มเติม
1. คำว่า “สะนัด” หรือ “อิสนาด” ผันมาจากหลักฐานใด?
2. ส่วนประกอบของหะดีษมีกี่ส่วน อะไรบ้าง ?
3. สะนัดมีความสำคัญอย่างไรบ้าง ?
4. สะนัดมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างไร ?
5. ทำไมการถ่ายทอดหะดีษต้องการผ่านกระบวนการสายรายงาน ?
6. เพราะเหตุใดต้องเรียนรู้รุ่นต่าง ๆ ของนักรายงานหะดีษ ?
7. สะนัดแบ่งออกเป็นก๊ประเภท อะไรบ้าง ?
8. มะตันหะดีษเป็นของท่านนบีมุฮัมมัด r เพียงผู้เดียว ใช่หรือไม่ ?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น