เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
บล็อกนี้ เป็นบล็อกสำหรับทุกคนที่ต้องการรับรู้ถึงสังคมปัจจุบันว่ากำลังดำเนินไปในทิศทางใดและสังเกตุพฤติกรรมของมุสลิมในสังคมว่ามีสภาพว่าเป็นอย่างไร พร้อมกันนี้เพื่อนอิสลามจะคอยเป็นเพื่อนกับทุกท่านที่เข้ามาเยื่ยมชม ซึ่งสิ่งที่เราต้องการ คือ เป็นเพื่อนในอิิสลามของคุณตลอดไป และถ้าหากเห็นว่าบล็อกนี้มีประโยชน์ช่วยเม้นให้ด้วยนะ หรือ ถ้าหากจะต้องการเนื้อหาอะไรก็โพสได้นะครับ ยินดีเสมอครับ

วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555

บทที่ 2 หะดีษและคำที่มีความหมายเหมือนหะดีษ

บทที่ 2

เป็นหนังสือที่ใช้สอนใน ของคณะอิสลามศึกษา มอ.ปัตตานี
โดย อาจารย์ อับดุลเลาะ การีนา มีทั้งหมด 7บท ต่อมาด้วยหะดีษต่างๆอีก 4 บทนะ

หะดีษและคำที่มีความหมายเหมือนหะดีษ


หัวข้อย่อย
วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้
1. ความหมายของหะดีษ
2. ความหมายของอัสสุนนะฮฺ
3. ความหมายของเคาะบัร
4. ความหมายของอะษัร
1. เข้าใจความหมายของหะดีษ
2. เข้าใจความหมายของอัสสุนนะฮฺ
3. เข้าใจความหมายของเคาะบัร
4. เข้าใจความหมายของอะษัร

1.            ความหมายของหะดีษ (الحديث)

 

ตามหลักภาษาศาสตร์

คำว่า حديثเป็นอาการนามเอกพจน์ แปลว่าใหม่ พหูพจน์ คือ أحاديث  เหมือนกับคำว่า قطيعแปลว่าตัดขาด พหูพจน์ คือ أقاطيع  ซึ่งมีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่า قديمแปลว่า ถาวร (อัลอะซีม อะบาดีย์ : 1/164 )
คำว่า حديثตามรากศัพท์เดิมนั้นมีความหมายหลายนัยด้วยกัน อาทิเช่น สิ่งใหม่ หรือของใหม่  ซึ่งตรงกันข้ามกับคำว่า เก่า (อัสสุยูฏีย์  : 1/6)   คำพูดที่กล่าวออกมามากหรือน้อย แม้แต่คำพูดที่เปล่งออกมาเฉย ๆ มีความหมายหรือไม่ก็ตาม   การให้ความหมายเช่นนี้มาจากคำตรัสของอัลลอฮฺ Y
] إن لم يؤمنوا بهذا الحديث أسـفاً [
ความว่า หากพวกเขาไม่ศรัทธาต่อหะดีษนี้แล้ว แน่นอนจะพบกับความเสียใจ(อัลกะฮฺฟฺ : 6 )
แต่คำนี้ (حديث) ถูกใช้เป็นการเฉพาะเจาะจงกับท่านนบีมุฮัมมัด r เท่านั้นจะเป็นคำพูด การกระทำ การยอมรับและอื่น ๆ ท่านอิบนุมัสอูด t กล่าวว่า
إن أحسن الحديث كتـاب الله، وخير الهدى هدى محمد
แปลว่า          แท้จริงหะดีษ (คำพูด) ที่ดีที่สุดนั้น คือ    กิตาบอัลลอฮฺและแนวทางที่ประเสริฐที่สุด คือ แนวทางของท่านนบีมุฮัมมัด r(มุสลิม : 1/189)

จากนิยามข้างต้นพอสรุปได้ว่า คำว่า      หะดีษสามารถใช้อย่างกว้างๆ กับคำพูดของใครก็ได้เช่น หะดีษมัรฟูอฺ  หะดีษเมากูฟ หะดีษมักฏูอฺแม้แต่หะดีษเมาฎูอฺ  เนื่องจากเป็นการใช้ในลักษณะทั่วไปไม่จำกัดความหมายเจาะจงกับใครคนหนึ่งคนใดเท่านั้น
อิมามอัตฏีบีย์ กล่าวว่า หะดีษ ตามหลักภาษานั้นมีความหมายครอบคลุมมากกว่าที่จะใช้เฉพาะเจาะจงกับคำพูดของท่านนบีr หรือคำพูดของเศาะหาบะฮฺ หรือคำพูดของตาบิอีนเท่านั้น แต่รวมถึงการกระทำและการยอมรับของพวกเขาเหล่านั้นด้วย (อัตเฏาะหานะวีย์ : 24)

ตามหลักวิชาการ

การนิยามหะดีษตามหลักวิชาการพบว่า มีหลายทัศนะที่ต่างกันพอสรุปได้ดังนี้
1. อุละมาอฺหะดีษได้นิยามว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่พาดพิงถึงท่านนบีมุฮัมมัด r ไม่ว่าจะเป็นคำพูด การกระทำ การยอมรับ คุณลักษณะตลอดจนชีวประวัติของท่าน ทั้งก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นนบีหรือหลังจากการเป็นนบีมุฮัมมัด r (มุฮัมมัด อะญาจญ์ อัลเคาะฏีบ : 21-22 )
ความหมายหะดีษเช่นนี้ก็เหมือนกับความหมายของอัสสุนนะฮฺตามความเห็นของอุละมาอฺหะดีษส่วนใหญ่
2. อิมามอันนะวะวีย์  กล่าวว่า หะดีษ คือ ทุก ๆ ปรากฏการณ์ที่สามารถพาดพิงถึงท่านนบีมุฮัมมัด r แม้ว่าท่านได้ปฏิบัติเพียงครั้งเดียวเท่านั้นตลอดชีวิต หรือถูกบันทึกไว้โดยบุคคลเพียงคนเดียวก็ตาม(ซัยยิด สุลัยมาน อันนะดะวีย์ หน้า 18)
ตามทัศนะของอิมามอันนะวะวีย์ การที่จะเรียกว่าอัลหะดีษนั้นไม่เฉพาะที่เป็นคำพูด  การกระทำเท่านั้น  แต่จะครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างที่มีความเกี่ยวพันกับท่านนบีมุฮัมมัด r แม้แต่ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นก็ตาม
3. มีทัศนะอื่นกล่าวว่า หะดีษ คือ คำพูดของท่านนบีมุฮัมมัด r เท่านั้น ไม่ว่าท่านจะกล่าวในเหตุการณ์ใดก็ตาม (มุฮัมมัด อะญาจญ์ อัลเคาะฏีบ : 22) 
ทัศนะนี้ให้ความหมายต่างกันกับอิมามอันนะวะวีย์ ซึ่งเป็นการให้ความหมายที่แคบเป็นการเฉพาะ คือ คำพูดของท่านนบีมุฮัมมัด r เท่านั้น
จากหลาย ๆ ทัศนะข้างต้นพบว่า ความหมายของหะดีษตามหลักวิชาการนั้นเป็นคำที่ใช้เฉพาะเจาะจงสำหรับท่านนบีมุฮัมมัด r เท่านั้นไม่สามารถจะใช้กับบุคคลอื่นได้เสมือนว่าคำ ๆ นี้ถูกกำหนดขึ้นมาเป็นคำเฉพาะ  ดังรายงานจากหะดีษบทหนึ่ง
سأل أبو هريرة رضي الله عنه رسول الله  فقال : يا رسول الله! من أسعد الناس بشفاعتك يوم القيامة؟ فقال له رسول الله r : (( لقد ظننتُ يا أبا هريرة ألا يسألني عن هذا الحديث أحدٌ أول منك، لما رأيتُ من حرصك على الحديث ))
ความว่า ท่านอะบูฮุรอยเราะฮฺ  t ได้ถามเราะสูลุลลอฮฺ r ว่า โอ้เราะสูลุลลอฮฺ! ผู้ใดในหมู่มนุษย์เป็นผู้ที่มีความสุขที่สุดที่ได้รับความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จากท่านในวัน กิยามะฮฺ? เราะสูลุลลอฮฺ r ก็ตอบเขาว่า โอ้อะบูฮุรอยเราะฮฺ ที่จริงแล้วฉันรู้สึกว่าคำถามนี้ยังไม่มีผู้ใดก่อนเจ้าที่ถามฉันเกี่ยวกับหะดีษ (คำพูด) นี้ เนื่องจากฉันเห็นว่าเจ้ามีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ต่อหะดีษ” (มุฮัมมัด อะญาจญ์ อัลเคาะฏีบ : 22)
ในทำนองเดียวกันมีรายงานจากอะบูฮารูนกล่าวว่า เมื่อพวกเราได้พบกับอะบู  สะอีด อัลคุดรีย์ ท่านมักจะกล่าวสม่ำเสมอว่า ยินดีต้อนรับสู่การสั่งเสียของเราะสูลุลลอฮฺ r เขากล่าวว่า พวกเราได้ถามอะบูสะอีด t ว่า  การสั่งเสียของท่านนบีนั้นคืออะไร ท่านอะบูสะอีด อัลคุดรีย์ตอบว่า เราะสูลุลลอฮฺ r ได้กล่าวว่า
(( إنه سيأتي بعدي قوم يسألونكم الحديث عني، فإذا جاءوكم فألطفوهم وحدثوهم ))
ความว่า แท้จริงจะมีกลุ่มหนึ่งจากประชาชาติของฉันจะมาพบกับพวกเจ้า (ณ เมืองมะดีนะห์) ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะถามเกี่ยวกับหะดีษของฉัน ดังนั้น เมื่อพวกเขาได้มาพบพวกเจ้าแล้วก็จงน้อมรับและจงสอนพวกเขาให้ถูกต้อง” (อัลอัสเกาะลานีย์ : 1/204)
การนำคำว่า หะดีษ มาใช้นั้นอาจจะแบ่งออกเป็นสองลักษณะด้วยกันคือ ใช้ในลักษณะเฉพาะเจาะจงกับท่านนบีมุฮัมมัด r เท่านั้น และบางครั้งอาจจะใช้ในลักษณะทั่วไปกับบุคคลอื่น ๆ ที่สมควรจะพาดพิงด้วย

2.   ความหมายของอัสสุนนะฮ (السنة)

 

ตามหลักภาษาศาสตร์

คำว่า السنةแปลว่า การปฏิบัติที่ถูกกำหนดมาหรือแนวทาง ส่วนความหมายตามหลักภาษาศาสตร์มีหลายความหมายด้วยกันแต่ที่จะยกมาในที่นี้เพียงบางส่วนเท่านั้น
1.             อัสสุนนะฮฺ คือ แนวทางที่ดีหรือแนวทางที่เลว  ท่านนบีมุฮัมมัด r กล่าวว่า
(( من سنّ في الإسلام سنة حسنة كان عليه وزرها ووزر من عمل بها من بعده من غير أن ينقص من أجورهم شيء، ومن سنّ في الإسلام سنة سيئة كان عليه وزرها ووزر من عمل بها من بعده من غير أن ينقص من أوزارهم شيء ))
ความว่า ผู้ใดก็ตามได้คิดแนวทางที่ดีในอิสลามแล้ว ดังนั้น เขาจะได้รับผลตอบแทนจากการปฏิบัติของคนอื่นหลังจากเขาโดยที่ผลตอบแทนนั้นไม่ลดหย่อนแม้แต่นิดเดียว และผู้ใดก็ตามได้คิดแนวทางที่เลวในอิสลาม เขาจะได้รับผลตอบแทนจากการปฏิบัติของคนอื่น หลังจากเขาเช่นเดียวกันโดยที่ผลตอบแทนนั้นไม่ลดหย่อน แม้แต่นิดเดียวเช่นกันจากการปฏิบัติในแนวทางนั้น(มุสลิม  : 1/134 )
2.             อัสสุนนะฮฺ คือ หนทาง  อัลลอฮฺ Y ทรงตรัสไว้ว่า
] قد خلتْ من قبلكم سـنن فسيروا في الأرض فانظروا كيف كان عاقبة المكذبين [
ความว่า แน่นอนได้ผ่านพ้นมาแล้วก่อนพวกเจ้า ซึ่งหนทางต่าง ๆ ดังนั้น พวกเจ้าจงท่องเที่ยวในพื้นแผ่นดิน แล้วจงดูว่าบั้นปลายของบรรดาผู้ปฏิเสธนั้นเป็นอย่างไร” (อาลิอิมรอน : 137)
คำว่า سُنَنٌ ในอายะฮฺข้างต้นเป็นคำนามในรูปพหูพจน์ของ سُنَّةٌ หมายถึง หนทางของบรรดาประชาชาติก่อนสมัยท่านนบีมุฮัมมัด r

ตามหลักวิชาการ

บรรดาอุละมาอฺมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับนิยามของอัสสุนนะฮฺ ที่มาจากการพิจารณา  การเน้น และการให้ความสำคัญของแต่ละสาขาวิชา 
1.   อุละมาอฺหะดีษ
อัสสุนนะฮฺ คือ  ทุกสิ่งทุกอย่างที่มาจากท่านนบีมุฮัมมัด r ไม่ว่าจะเป็นคำพูด การกระทำ การยอมรับ คุณลักษณะและชีวประวัติทั้งก่อนที่ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนบีหรือหลังจากได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนบี
ความหมายของอัสสุนนะฮฺเช่นนี้เหมือนกับความหมายของหะดีษตามทัศนะของอุละมาอฺหะดีษส่วนใหญ่ทั้งอุละมาอฺมุตะก๊อดดิมูน เช่น อัลบุคอรีย์ มุสลิม อะบูดาวูด อัตติรมิซีย์  อันนะสาอีย์  และอิบนุมาญะฮฺ  และอุละมาอฺมุตะอัคคิรูน เช่น อิมามอิบนุ อัลกอยยิม  อัลหาฟิศ อัลอัสเกาะลานีย์ เป็นต้น เพราะฉะนั้น บางครั้งอุละมาอฺหะดีษใช้คำว่า หะดีษและบางครั้งใช้คำว่า อัสสุนนะฮฺเช่น สุนนะฮฺเราะสูลุลลอฮฺ หรือหะดีษนบี
อุละมาอฺกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับอัสสุนนะฮฺในด้านของการเป็นเราะสูล ซึ่งเป็นแบบ อย่างอันดีงามสำหรับประชาชาติทั้งมวล
2.   อุละมาอฺอะกีดะฮฺและอุละมาอฺดะฮฺวะฮฺ
  อัสสุนนะฮฺ  คือ สิ่งที่สอดคล้องกับหลักการอัลกุรอานและอัลหะดีษและสอดคล้องกับการอิจญ์มาอฺของชาวสะลัฟในด้านอะกีดะห์  อิบาดะฮฺ   ซึ่งตรงกันข้ามกับบิดอะฮฺ (อุมัร   หะสัน ฟุลลาตะฮฺ : 1/39)  
อุละมาอฺกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับอัสสุนนะฮฺในด้านความสอดคล้องหรือไม่ขัดกับหลักการศรัทธาและวิธีการปฏิบัติของชาวสะลัฟศอลิหฺ   ตามทัศนะนี้เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอะกีดะฮฺและอิบาดาตจะมีสองแง่เท่านั้น คือ สิ่งที่เป็นอัสสุนนะฮฺหรือสิ่งที่เป็นบิดอะฮฺ
3.   อุลามาอฺฟิกฮฺ
อัสสุนนะฮฺ คือ สิ่งที่เป็นแนวทางปฏิบัติในเรื่องศาสนาที่ไม่ใช่หุก่มวาญิบ (บังคับให้ทำ) และไม่ใช่ที่เป็นฟัรฎู (มุฮัมมัด อะญาจญ์ อัลเคาะฏีบ : 21)
อุละมาอฺฟิกฮฺจะให้นิยามอัสสุนนะฮฺในสิ่งที่เป็นหุก่มสุนัตเท่านั้น
อุละมาอฺกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญต่ออัสสุนนะฮฺในด้านหุก่มข้อบัญญัติที่เป็นสุนัต เมื่อมีการปฏิบัติจะได้รับผลตอบแทนและหากไม่ปฏิบัติก็ไม่เป็นบาปแต่ประการใด โดยไม่มีการแยกระหว่างสิ่งที่ท่านนบีมุฮัมมัด r ปฏิบัติอย่างปกติหรือเป็นประจำ หรือปฏิบัติบางครั้งบางคราวเท่านั้น บางครั้งจะใช้อัสสุนนะฮฺตรงข้ามกับสิ่งที่เป็นบิดอะฮฺ
4.   อุละมาอฺอุศูล อัลฟิกฮฺ
อัสสุนนะฮฺ คือ  ทุกสิ่งทุกอย่างที่มาจากท่านนบีมุฮัมมัด r ที่ไม่ได้ระบุในอัลกุรอาน ไม่ว่าจะเป็นคำพูด การกระทำ หรือการยอมรับ ซึ่งสามารถอ้างเป็นหลักฐานได้และยังสามารถบัญญัติหุก่มอีกด้วย (อัชเชากานีย์ : 33)
อุละมาอฺกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับอัสสุนนะฮฺในด้านการบัญญัติหุก่มที่ไม่ได้ระบุในอัลกุรอาน   แต่มาจากท่านนบีมุฮัมมัด r โดยตรง ส่วนมากแล้วพวกเขาจะเน้นในสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับหุก่มตักลีฟีย์ทั้งห้า คือ วาญิบ หะรอม สุนัต  มุบาหฺ และมักรูฮฺ

3.  ความหมายของเคาะบัร (الخبر)

ตามหลักภาษาศาสตร์

คำว่า خبر เป็นคำเอกพจน์ซึ่งแปลว่า ข่าว (อัลอะซีม อะบาดีย์ : 2/17)   คำพหูพจน์ คือ อัคบาร  หมายถึง ข่าวหลายเรื่อง หรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้รายงานสืบทอดกันมา

ตามหลักวิชาการ

เคาะบัรตามหลักวิชาการ อุละมาอฺมีความเห็นที่แตกต่างกันดังนี้
1. อุละมาอฺหะดีษมีความเห็นว่า ความหมายของเคาะบัรเหมือนกับความหมายของหะดีษหรืออัสสุนะฮฺ (อัสสุยูฏีย์  : 1/9)   ตามทัศนะของอุลามาอฺกลุ่มนี้คำว่า เคาะบัรอาจจะใช้กับการรายงานโดยทั่วไป  ส่วนหะดีษและอัสสุนนะฮฺใช้กับคำพูด การกระทำ และการยอมรับ
2. อุละมาอฺบางท่านมีความเห็นว่า เคาะบัร คือ สิ่งที่พาดพิงถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺหรือตาบิอีน (อัสสุยูฏีย์ : 1/9)   ตามทัศนะของอุละมาอฺกลุ่มนี้ การใช้เคาะบัรนั้นใช้ได้เฉพาะกับคำกล่าว และการกระทำของเศาะหาบะฮฺหรือตาบิอีนเท่านั้นไม่รวมถึงสิ่งที่ถูกพาดพิงไปยังท่านนบีมุฮัมมัด r แต่ประการใด
3. มีบางทัศนะกล่าวว่า หะดีษ คือ สิ่งที่พาดพิงถึงท่านนบี ส่วนเคาะบัร คือ สิ่งที่มาจากนบีมุฮัมมัด r และคนอื่น ๆ (อัสสุยูฏีย์ : 1/9) ทัศนะนี้มีความเห็นว่า อัลหะดีษและอัลเคาะบัรใช้ได้ทั้งกับท่านนบี เศาะหาบะฮฺ และตาบิอีนโดยไม่ได้แยกออกจากกัน

4.  ความหมายของอะษัร (الأثر)

ตามหลักภาษาศาสตร์

คำว่า أثر เป็นคำเอกพจน์ซึ่งแปลว่า ร่องรอย หรือแผล คำพหูพจน์ คือ อัลอาษาร (อัลอะซีม อะบาดีย์ : 1/362)  แปลว่า ร่องรอยมากมาย หรือหลายบาดแผล  และสามารถใช้กับการติดตาม เช่น คนหนึ่งเดินตามอีกคนหนึ่ง หรือรุ่นหนึ่งเดินตามคนรุ่นก่อนหน้าพวกเขา เป็นต้น

ตามหลักวิชาการ

อะษัรตามหลักวิชาการมีหลายความหมายด้วยกันดังนี้
1. อุละมาอฺหะดีษส่วนใหญ่มีความเห็นว่า อะษัรมีความหมายเหมือนกับหะดีษ   อัสสุนนะฮฺ และเคาะบัร
2. อุละมาอฺฟิกฮฺ กล่าวว่า อะษัร คือ หะดีษเมากูฟของเศาะหาบะฮฺ  ส่วนเคาะบัร คือ     หะดีษมัรฟูอฺ (อัสสุยูฏีย์ : 1/6)  ของท่านนบีมุฮัมมัด r 
อิมามอัสสุยูฏีย์ กล่าวว่า   บรรดาอุละมาอฺหะดีษเรียกสิ่งที่เป็นมัรฟูอฺและเมากูฟว่า อัลอะษัร ส่วนอุละมาอฺฟิกฮฺเมืองคุรอสานส่วนมากเรียกสิ่งที่เป็นมัรฟูอฺว่า อะษัร และสิ่งที่เป็นเมากูฟว่า เคาะบัร (อัสสุยูฏีย์  : 1/6)

5.  ความหมายเชิงปฏิบัติการ

ในทางปฏิบัติหรือการใช้จริงของบรรดาอุละมาอฺจะเห็นอย่างชัดเจนถึงความแตก ต่างของการใช้ศัพท์ทั้งสี่ ซึ่งพอสรุปได้ดังต่อนี้
1. อุละมาอฺหะดีษส่วนใหญ่มีความเห็นว่า หะดีษและอัสสุนนะฮฺใช้กับท่านนบีมุฮัมมัด r และคุละฟาอฺอัรรอชิดีนเท่านั้น ส่วนเคาะบัรใช้กับบรรดาเศาะหาบะฮฺ และอะษัรใช้กับบรรดาตาบิอีนและตาบิอฺตาบิอีน
2. อุละมาอฺฟิกฮฺและอุละมาอฺอุศูล อัลฟิกฮฺใช้คำว่า หะดีษกับคำพูด การกระทำ และการยอมรับของท่านนบีมุฮัมมัด r ส่วนอัสสุนนะฮใช้กับการปฏิบัติของท่านนบี r เคาะบัรใช้กับบรรดาเศาะหาบะฮฺ และอะษัรใช้กับบรรดาตาบิอีนและตาบิอฺตาบิอีน


โจทย์ฝึกหัดเพิ่มเติม

1.  คำว่า หะดีษ หมายถึงอะไร?
2.  อัสสุนนะฮฺตามทัศนะของอุละมาอฺหะดีษมีความหมายอย่างไร ?
3.  เคาะบัรมักจะใช้กับใครมากที่สุด ?
4.  อะษัรจะใช้กับท่านนบีมุฮัมมัด r  ได้หรือไม เพราะเหตุใด ?
5.  ระหว่างหะดีษกับอัสสุนนะฮฺแตกต่างด้านใด ?
6.   คำว่า อัสสุนนะฮฺ ตามทัศนะของอุละมาอฺฟิกฮฺหมายความถึงอะไร ?
7.  จริยธรรมที่มีต่อหะดีษหรืออัสสุนนะฮฺมีอะไรบ้าง ?


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น