เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
บล็อกนี้ เป็นบล็อกสำหรับทุกคนที่ต้องการรับรู้ถึงสังคมปัจจุบันว่ากำลังดำเนินไปในทิศทางใดและสังเกตุพฤติกรรมของมุสลิมในสังคมว่ามีสภาพว่าเป็นอย่างไร พร้อมกันนี้เพื่อนอิสลามจะคอยเป็นเพื่อนกับทุกท่านที่เข้ามาเยื่ยมชม ซึ่งสิ่งที่เราต้องการ คือ เป็นเพื่อนในอิิสลามของคุณตลอดไป และถ้าหากเห็นว่าบล็อกนี้มีประโยชน์ช่วยเม้นให้ด้วยนะ หรือ ถ้าหากจะต้องการเนื้อหาอะไรก็โพสได้นะครับ ยินดีเสมอครับ

วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555

บทที่ 3 หะดีษในฐานะเป็นแหล่งที่มาของบทบัญญัติอิสลาม

บทที่ 3

เป็นหนังสือที่ใช้สอนใน ของคณะอิสลามศึกษา มอ.ปัตตานี
โดย อาจารย์ อับดุลเลาะ การีนา มีทั้งหมด 7บท ต่อมาด้วยหะดีษต่างๆอีก 4 บทนะ
หะดีษในฐานะเป็นแหล่งที่มาของบทบัญญัติอิสลาม

หัวข้อย่อย
วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้
1. ความเป็นจริงของหะดีษ
2. ฐานะของหะดีษ
3. การยึดมั่นในหะดีษ
4. การรายงานหะดีษ
1. เข้าใจความเป็นจริงของหะดีษ
2. เข้าใจฐานะของหะดีษ
3. เข้าใจวิธีการยึดมั่นในหะดีษ
4. เข้าใจวิธีการรายงานหะดีษ

1.            ความเป็นจริงของหะดีษ

หะดีษเป็นแหล่งที่มาของบทบัญญัติอิสลามอันดับสองรองจากอัลกุรอาน  เนื่อง จากหะดีษถือเป็นส่วนหนึ่งของวะหฺยูเช่นกัน ดังที่ปรากฏในอัลกุรอาน
] إن هو إلا وحي يوحى [
ความว่า มันมิใช่สิ่งอื่นใด เว้นแต่มันก็เป็นวะฮฺยูที่พระองค์ทรงประทานลงมา(อันนัจญ์มฺ : 4 )
ทั้งสองประการนี้ อัลกุรอานและหะดีษ เป็นแหล่งที่มาของบทบัญญัติอิสลามที่เป็นพื้นฐาน แม้นว่าทั้งสองประการจะมีความแตกต่างทางด้านของตัวบทก็ตาม กล่าวคืออัลกุรอานถูกประทานลงมาประกอบด้วยมุอฺญิซาตทั้งที่เป็นตัวบทและความหมาย ส่วนหะดีษนั้นถูกประทานลงมายังท่านนบีมุฮัมมัด r ในด้านความหมายโดยผ่านมลาอิกะฮฺญิบรีล และท่าน นบีก็กล่าวด้วยสำนวนของท่านเองโดยยึดตามความหมายนั้นตามสภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่อหน้าท่าน หรือเป็นการตอบคำถามของบรรดาเศาะหาบะฮฺ หรือตอบข้อซักถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ท่านไม่ได้เห็นด้วยตนเอง    อิมามอัชชาฟิอีย์กล่าวว่า ทุก ๆ บทบัญญัติที่ท่านนบีมุฮัมมัด r ได้ตัดสินไปนั้นเป็นผลมาจากการเข้าใจในอัลกุรอานอย่างถูกต้องที่สุดท่านยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า คำพูดของอุละมาอฺทั้งหมดเป็นการอธิบายอัสสุนนะฮฺและอัสสุนนะฮฺเป็นการอธิบายอัลกุรอาน(อัลกอสิมีย์ : 59)
จากคำกล่าวนี้สอดคล้องกับอัลกุรอานที่มีการห้ามปฏิบัติในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการปฏิบัติของท่านนบีมุฮัมมัด r และในสิ่งที่ไม่ใช่เป็นหุก่มเฉพาะเจาะจงสำหรับท่านเท่านั้น     อิมาม อิบนุกะษีร (3/131 ) ได้อธิบายอายะฮฺ [ فليحذر الذين يخالف عن أمره ) กล่าวว่า การห้ามปฏิบัติในลักษณะที่ขัดแย้งกับคำสั่งของท่านนบีมุฮัมมัด r คือ ขัดแย้งกับแนวทาง วิธีการ บทบัญญัติ แนวคิดตลอดจนหลักสูตรการสั่งสอนของท่าน ดังนั้น สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปรียบเทียบเพื่อให้สอดคล้องกับคำพูดและการปฏิบัติของท่าน สิ่งที่สอดคล้องกับมันก็ต้องยอมรับมันเสียโดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น และสิ่งที่ขัดแย้งจะต้องปฏิเสธไปอย่างสิ้นเชิง ดังที่ปรากฏในหะดีษเศาะหีหฺบทหนึ่งบันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม จากท่านนบีมุฮัมมัด r  กล่าวว่า (( من عمل عملاً ليس عليه أمرنا فهو رد )) ความว่า ผู้ใดได้ปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ศาสนาบัญญัติไว้ สิ่งนั้นจะต้องปฏิเสธไป(อัลบุคอรีย์ : 13/56 และมุสลิม : 2/1243)
ด้วยเหตุนี้  อัสสุนนะฮฺจึงอยู่ในลำดับที่สองรองจากอัลกุรอาน อย่างไรก็ตาม สำหรับอิมามอัชชาฟิอีย์แล้วหะดีษต้องตามหลังอัลกุรอานเสมอ แม้ว่าท่านจะจัดลำดับของทั้งสองอยู่ในระดับเดียวกันก็ตาม

2.            ฐานะของหะดีษ

 ฐานะในที่นี้ คือ  บทบาทและหน้าที่  หมายความถึงหน้าที่ของหะดีษนบีในฐานะที่เป็นคำสอนของศาสนาอิสลาม
หะดีษมีหน้าที่อธิบายบทบัญญัติต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ชี้แจงวัตถุประสงค์ของแต่ละอายะฮฺ  การขยายความอัลกุรอานที่มีลักษณะเป็นอายะฮฺมุจมัล (ที่มีความหมายสั้น ๆ)    อายะฮฺที่มีลักษณะเป็นอายะฮฺมุฏลั้ก (อิสระ) และอายะฮฺที่มีลักษณะเป็นอายะฮฺอุมูม (ทั่วไป)
การอธิบายบทบัญญัติให้สมบูรณ์ เช่น การอธิบายอายะฮฺที่เกี่ยวกับอิบาดาต อายะฮฺ มุอามะลาต  อายะฮฺนิกาหฺ  อายะฮฺหะลาลและหะรอม เป็นต้น
การชี้แจงวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของอายะฮฺบางอายะฮฺ เช่น  อายะฮฺที่พูดถึงการสั่งเสียให้แก่คนที่ไม่ใช่ญาติพี่น้องในการยกทรัพย์สินให้พวกเขา และอื่น ๆ
การระบุถึงหุก่มต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในอัลกุรอาน หุก่มนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เว้นแต่จะมีหะดีษอื่นมาบ่งชี้ว่าเป็นหุก่มอื่นเท่านั้น   เนื่องจากเป็นการอธิบายของท่านนบีนั่นเอง  อิมามอัลบัยฮากีย์ได้บันทึกหะดีษบทหนึ่งจากการรายงานของอุมัร เบ็ญ อัลค๊อฏฏ๊อบ กล่าวว่า  โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงความคิดที่ถูกต้องนั้นมาจากเราะสูลุลลอฮฺ r เนื่องจากอัลลอฮฺได้ชี้แจงให้แก่ท่าน แต่ความคิดของเราบางครั้งเป็นการคาดคะเนและเป็นความคิดที่อ่อนแอด้วย
การบรรยายวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนาที่ยังไม่ได้ระบุไว้ใน อัลกุรอาน หรือเป็นการกล่าวถึงเรื่องนั้นไว้อย่างกว้าง ๆ ไม่ครอบคลุม
ประการทั้งปวงที่ได้กล่าวข้างต้นไม่มีข้อสงสัยใด ๆ  สำหรับบรรดาอุละมาอฺทั้งสมัยก่อนและรุ่นหลัง หรือแม้แต่อุละมาอฺสมัยปัจจุบัน ต่างก็ยอมรับว่า หะดีษนั้นได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ในการอธิบายอัลกุรอาน  อย่างไรก็ตามในอัลกุรอานจะพบแต่การกล่าวถึงหลักใหญ่หรือกล่าวถึงอย่างสังเขปเท่านั้น โดยไม่มีการอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติแต่ประการใด

3.            การยึดมั่นในหะดีษ

ในอัลกุรอานได้กล่าวถึงอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการยึดมั่นในหะดีษ หรืออัสสุนนะฮฺในลักษณะต่าง ๆ เช่น การเคารพภักดีต่อเราะสูล การปฏิบัติตาม การยอมรับในสิ่งที่ท่านนบีมุฮัมมัดrได้ดำเนินการมาในช่วงที่ท่านนบียังมีชีวิตอยู่หรือหลังจากที่ท่านเสียชีวิตแล้ว หลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมีดังนี้

หลักฐานจากอัลกุรอาน   ขอยกตัวอย่างเพียงบางอายะฮฺเท่านั้น

1.             อัลลอฮฺ Y  ทรงตรัสไว้ว่า
] وما آتاكم الرسول فخذوه وما نهاكم عنه فانتهوا [
ความว่า และสิ่งที่ท่านเราะสูลได้นำมาแก่พวกเจ้าก็จงรับมันไว้ และสิ่งที่ท่าน (เราะสูล) ห้ามก็จงหลีกเลี่ยงมันเสีย(อัลหัชรฺ : 7)
การน้อมรับในสิ่งที่ท่านเราะสูลนำมาถือเป็นการแสดงถึงการนำหะดีษสุนนะฮฺ       ใช้เป็นหลักฐานและการยึดมั่นในหะดีษอีกด้วย
2.             อัลลอฮฺ Y  ทรงตรัสไว้ว่า
] يا أيها الذين آمنـوا أطيعوا الله وأطيعوا الرسـول وأولى الأمر منكم فإن تنازعتم في شـيء فردوه إلى الله والرسـول إن كنتم تؤمنون بالله واليوم الآخر [
ความว่า โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย พวกเจ้าจงเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺและจงเคารพภักดีต่อเราะสูล และผู้นำในหมู่พวกเจ้า ฉะนั้น หากพวกเจ้ามีการขัดแย้งกันในสิ่งใดก็จงย้อนสิ่งนั้นไปยังอัลลอฮฺและเราะสูลเถิด หากพวกเจ้าทั้งหลายศรัทธาต่อ อัลลอฮฺและวันกิยามะฮฺ (อันนิสาอฺ : 59)
การย้อนกลับไปยังอัลลอฮฺ Y และเราะสูล r นั้นหมายความว่า  การปฏิบัติตามแนวทางที่เที่ยงตรงและเป็นการแสดงถึงการมีอีมานอย่างแท้จริง
3.             อัลลอฮฺ Y  ทรงตรัสไว้ว่า
] قل إن كنتم تحبون الله فاتبعوني يحببكم الله ويغفر لكم ذنوبكم [
ความว่า จงกล่าวเถิด (โอ้มุฮัมมัด)! หากพวกเจ้ารักอัลลอฮฺก็จงปฏิบัติตามฉัน แน่นอนพวกเจ้าจะเป็นที่รักใคร่ของอัลลอฮฺ และพระองค์จะอภัยแก่พวกเจ้าในบาปทุกประการ(อาลิอิมรอน : 31)
การรักอัลลอฮฺ Y ที่แท้จริง คือ การปฏิบัติตามท่านนบีมุฮัมมัด r ในทุก ๆ เรื่องที่ท่านได้ปฏิบัติ   เว้นแต่บางสิ่งบางอย่างเท่านั้นที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม

หลักฐานจากหะดีษ

ท่านนบีมุฮัมมัด r กล่าวว่า
(( عليكم بسنتي وسنة الخلفاء الراشدين المهديين عضوا عليها بالنواجذ وإياكم ومحدثات الأمور فإن كل بدعة ضلالة ))
ความว่า จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพวกเจ้ายึดในสุนนะฮฺของฉันและสุนนะฮฺบรรดาเคาะลีฟะฮฺอัรรอชิดีนที่ได้รับการชี้นำทาง พวกเจ้าจงกัดมันด้วยฟันกรามแน่นๆ และจงระมัดระวังสิ่งใหม่ๆ (อุปโลกน์ขึ้นมา) เนื่องจากแท้จริงการอุตริกรรมทุกประเภทนั้นคือ การหลงทาง(อะบูดาวูด : 5/34, อัตตัรมิซีย์ : 5/39, อิบนุ มาญะฮฺ : 2/254 และอะหฺมัด : 2/245)
คำว่า عليكمในภาษาอาหรับจะมีหุก่มเป็นวาญิบ ฉะนั้น การยึดมั่นในหะดีษเป็นหุก่มวาญิบสำหรับมุสลิมทุกคนที่บรรลุศาสนภาวะ
1.             ท่านนบีมุฮัมมัด r กล่าวว่า
(( تركتُ فيكم أمرين لن تضـلوا بعدهما إن تمسكتم بهما؛ كتـاب الله وسنة رسـوله ))
ความว่า ฉันได้คงไว้ (มอบ) ในหมู่พวกเจ้าสองประการ ซึ่งพวกเจ้าจะไม่หลงทาง (อย่างแน่นอน) หากพวกเจ้าได้ยึดมั่นกับสองประการนี้:  กิตาบของอัลลอฮฺและสุนนะฮฺของเราะสูล(มาลิก : 1/123 และอัลหากิม : 1/345 สำนวนหะดีษเป็นของอัลหากิม)
หะดีษบทนี้แสดงถึงการให้ยึดมั่นในหะดีษด้วยวิธีการออกคำสั่งโดยทางอ้อม กล่าวคือ ท่านนบีมุฮัมมัด r ได้กล่าวด้วยประโยคบอกเล่าแต่มีเจตนารมณ์เป็นคำสั่งให้ปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นการรับรองต่อการปฏิบัติตามหะดีษว่าจะไม่หลงทางอย่างแน่นอน
3.  ท่านนบีมุฮัมมัด r กล่าวว่า
(( دعوني ما تركتُكم، فإنما أهلك من كان قبلكم سؤالهم، واختلافهم على أنبيائهم، فإذا نهيتُكم عن شيء فاجتنبوه وإذا أمرتكم بشيء فأتوا منه ما اسـتطعتم ))
ความว่า พวกเจ้าจงปล่อยไว้ในสิ่งที่ฉันปล่อย เพราะแท้จริงความพินาศของชนรุ่นก่อนพวกเจ้านั้นเนื่องจากมีการถามมาก มีการขัดแย้งกับบรรดานบีของพวกเขาเอง ดังนั้นเมื่อฉันห้ามพวกเจ้าจากการกระทำสิ่งใดก็จงหลีกห่างมัน และเมื่อฉันสั่งพวกเจ้าให้กระทำสิ่งใดแล้วก็จงปฏิบัติเถิดตามความสามารถของพวกเจ้า” (อัลบุคอรีย์ : 13/20 และมุสลิม : 1/107)
การปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบีมุฮัมมัด rในทุกเรื่อง  แสดงให้เห็นว่าเป็นการกลับสู่การปฏิบัติตามหะดีษ ในทำนองเดียวกันการหลีกห่างจากสิ่งที่ท่านนบีห้ามปฏิบัติก็ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงการกลับสู่หะดีษเช่นเดียวกัน

คำยืนยันของอุละมาอฺ

1. อัชชาฟิอีย์มีความเห็นว่า ในเมื่อท่านนบีมุฮัมมัด สนับสนุนให้ฟังหะดีษของท่าน และยังสนับสนุนให้คนที่มีความรู้เกี่ยวกับหะดีษท่องจำและรายงานหะดีษให้คนอื่นฟังด้วย อันนี้ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะชี้ให้เห็นว่าการสนับสนุนนั้นเป็นหลักฐานประการหนึ่งที่เป็นหน้าที่ของผู้รู้  เนื่องจากการปฏิบัติเช่นนั้นจะได้รับผลบุญและการหลีกเลี่ยงมันเป็นที่ต้องห้ามในขอบเขตที่จะต้องปฏิบัติ  เปรียบเสมือนทรัพย์สินเมื่อมีการรับย่อมมีการแจกจ่ายให้ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับทั้งเรื่องศาสนาและเรื่องดุนยาทุกประการ (อัสสุยูฏีย์ : 99)
ดังนั้น การชี้ทางของสุนนะฮฺหรือหะดีษในเรื่องต่าง ที่เกี่ยวกับบทบัญญัติอิสลามนั้นเป็นการตัดสินที่เด็ดขาดหากประโยคเหล่านั้นสามารถพาดพิงถึงท่านนบี r อย่างถูกต้อง    อิมามอัชชาฟิอีย์ได้กล่าวย้ำว่า แท้จริงบรรดาอุละมาอฺตั้งแต่สมัยเศาะหาบะฮฺและตาบิอีน พวกเขาไขว่คว้าหะดีษในทุก ๆ เรื่อง หากพวกเขาไม่พบหะดีษพวกเขาจะนำสิ่งอื่น ๆ มาใช้เป็นหลักฐาน    หลังจากนั้นหากพวกเขาพบหะดีษที่เกี่ยวข้องแล้วพวกเขาจะกลับตัวและปฏิบัติตามหะดีษที่เขารู้ด้วยความมั่นใจ” (อัสสุยูฏีย์ : 99 )
จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้นสามารถยืนยันว่า  การกลับสู่หะดีษโดยวิธีการใดก็ตามเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งทั้งที่เกี่ยวกับอะกีดะฮฺ   อิบาดะฮฺ  มุอามะลาต มุนากะฮาต และด้านอื่นๆ  บรรดาอุละมาอฺต่างก็มีความเห็นพ้องกันว่า  การกลับสู่หะดีษเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องที่สุด ไม่สามารถปฏิเสธได้ ไม่เฉพาะสำหรับผู้ที่มีความรู้เท่านั้น แม้แต่คนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็จำเป็นเหมือนกัน เพราะเป็นการแสดงถึงการมีความรักต่อท่านนบีมุฮัมมัด r

4.            การรายงานหะดีษ

1.  หุก่มของการรายงานหะดีษ
การรายงานหะดีษของท่านนบีมุฮัมมัด r ให้แก่ผู้อื่นเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งสำหรับมุสลิมและมุสลิมะฮฺโดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับหะดีษจะมีความรู้มากหรือน้อยก็ตาม แต่ทว่าผู้ที่มีความรู้มากหรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาหะดีษจะมีหน้าที่หนักกว่าคนอื่น อับดุลเลาะ เบ็ญ อัมรฺ เบ็ญ เอาศฺ y  ได้รายงานจากเราะสูลุลลอฮฺ r ท่านกล่าวว่า
(( بلغوا عني ولو آية، وحدثوا عن بني إسرائيل ولا حرج، ومن كذب عليّ متعمداً فليتبوأ مقعده من النار ))
ความว่า  จงเผยแผ่จากฉันถึงแม้ว่าหนึ่งอายะฮฺก็ตาม และจงรายงานจากบะนี   อิสรออีลเถิด และไม่ใช่เรื่องหนักหนาสาหัสอะไร และผู้ใดโกหกต่อฉันโดยเจตนาก็จงเตรียมที่นั่งของเขาไว้ในไฟนรก(อัลบุคอรีย์ : 2/374, อัตติรมิซีย์ : 5/40  อบูอีซากล่าวว่า  หะดีษบทนี้เป็นหะสันเศาะหีหฺและ อะหฺมัด : 3/159, 203, 314 )
การรายงานหะดีษของท่านนบีมุฮัมมัด r ให้แก่ผู้อื่นนั้นเป็นหุก่มวาญิบสำหรับทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับหะดีษตามขีดความรู้ความสามารถของแต่ละคนดังหะดีษบันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม
มีรายงานอีกกระแสหนึ่ง จากญุบัยรฺ เบ็ญ มุฏอิม ได้รายงานจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ r  กล่าวถึงความประเสริฐของผู้ที่รายงานและผู้ฟังหะดีษของท่าน
(( نضّر الله عبداً سمع مقالتي فوعاها، ثم أدّاها إلى من لم يسمعها، فربّ حامل فقه لا فقه له، وربّ حامل فقه إلى من هو أفقه منه .. ))
ความว่า อัลลอฮฺทรงให้เกียรติแก่บ่าวที่ยอมฟังคำพูด (หะดีษ) ของฉันและเขาได้ท่องจำมัน หลังจากนั้นเขาได้เผยแพร่แก่คนอื่นที่ยังไม่ได้ฟัง ดังนั้น บ่อยครั้งผู้ที่เผยแพร่ไม่เข้าใจมัน และบ่อยครั้งผู้ถูกถ่ายทอดเข้าใจมากกว่าผู้เผยแพร่” (อะบูดาวูด : 3/322, อัตตัรมิซีย์ : 5/33-34, อิบนุมาญะฮฺ : 1/85, อะหฺมัด : 1/437, 3/225, 4/80,82, 5/183 และอัดดาริมีย์  : 1/86  สำนวนข้างต้นเป็นของอะหฺมัด)
หน้าที่ของมุสลิมที่มีต่อหะดีษของท่านนบีมุฮัมมัด r นั้นก็คือ ฟังหะดีษ  ท่องจำหะดีษ และรายงานหะดีษให้แก่ผู้อื่นที่ยังไม่ได้ฟังหรือยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับหะดีษ  ที่สำคัญยิ่ง คือ ผู้ที่ทำหน้าที่รายงานหะดีษต้องเป็นคนที่มีความรู้เรื่องหะดีษซึ่งอาจจะมีลักษณะที่หลากหลายแตกต่างกัน เช่น บางคนมีทั้งความรู้และเข้าใจเนื้อหาของแต่ละหะดีษ บางคนมีความรู้ แต่ไม่เข้าใจความหมายของหะดีษ 
2.   วิธีการรายงานหะดีษ
เนื่องจากวิธีการรายงานหะดีษยังไม่มีข้อเสนอแนะจากท่านนบี r เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน  บรรดาเศาะหาบะฮฺก็ได้ใช้ความพยายาม (อิจญ์ติฮาด) ในการอธิบายถึงวิธี การรายงานที่สอดคล้องกับฐานะที่เป็นหะดีษของท่านนบี r ให้มากที่สุด มุฮัมมัด เบ็ญ สีรีนได้กล่าวถึงวิธีการรายงานอย่างกว้าง ๆ ดังนี้
   كنتُ أسمع الحديث من عشرة، المعنى واحد، والألفاظ مختلفة
แปลว่า ฉันได้ยินหะดีษจากสิบคน (เศาะหาบะฮฺซึ่งพวกเขาได้รายงาน) เป็นความหมายเดียวกัน และหลากหลายตัวบท(อัลกอสิมีย์  : 222 )
จากอะษัรบทนี้พอสรุปได้ว่า  การรายงานหะดีษนั้นมี 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ
วิธีการที่ 1    การรายงานตัวบทหะดีษ
การรายงานตามวิธีการนี้จะเห็นได้จากการปฏิบัติของบรรดาเศาะหาบะฮฺที่รายงานหะดีษจากท่านนบีมุฮัมมัด r  กล่าวคือ บางคนได้รายงานหะดีษอย่างสมบูรณ์ทั้งประโยคที่ได้ฟังจากท่านและบางคนได้รายงานหะดีษอย่างสมบูรณ์ที่ได้ฟังจากเศาะฮาบะฮฺท่านอื่น ซึ่งแต่ละคนนั้นได้รายงานด้วยความซื่อสัตย์ต่อหะดีษ โดยไม่มีการโกหกและเพิ่มเติมในสิ่งที่พวกเขาได้ฟังจากท่านนบีมุฮัมมัด r การรายงานหะดีษในหมู่เศาะหาบะฮฺมีทั้งการรายงานตัวบทและมีการรายงานตัวบทพร้อมกับสะนัดของหะดีษ  การรายงานด้วยวิธีการเช่นนี้ได้มีมาตั้งแต่สมัย     เศาะหาบะฮฺจนถึงสมัยตาบิอฺ อัตบาอฺอัตตาบิอีน และได้มีการถ่ายทอด     อย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงสมัย    อุละมาอฺมุตะอัคคิรูน
การรายงานหะดีษด้วยวิธีนี้สามารถจำแนกออกเป็น 3 วิธีการ ดังนี้
1. วิธีการรายงานแบบสมบูรณ์
การรายงานแบบสมบูรณ์ หมายถึง  การรายงานหะดีษทั้งสะนัดและมะตันโดยไม่มีการตัดต่อและเพิ่มเติมจากประโยคเดิมที่ได้ฟังกันมาตั้งแต่ต้นจนจบหะดีษ เช่น การรายงานของบรรดานักหะดีษทั้งหก ได้แก่ อัลบุคอรีย์  มุสลิม อะบูดาวูด อัตติรมิซีย์  อันนะสาอีย์ และอิบนุมาญะฮฺ หรือ อัศหาบ อัลกุตุบ อัซซิตตะฮฺ และท่านอื่น
2. วิธีการรายงานแบบย่อ
การรายงานแบบย่อ หมายถึง การรายงานเฉพาะตัวบทหะดีษบางส่วนเท่านั้น ไม่มีการกล่าวถึงในส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับตัวบท  การรายงานเช่นนี้เป็นการปฏิบัติของอุละมาอฺฟิกฮฺ
ตามทัศนะของอุละมาอฺส่วนใหญ่แล้วมีความเห็นว่า  การรายงานหะดีษด้วยวิธีนี้สามารถทำได้แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญ คือ  ผู้ที่รายงานหะดีษต้องเป็นคนที่มีความรู้ในเรื่องหะดีษเป็นอย่างดี  เนื่องจากการย่อหะดีษของคนอาลิมมิอาจทำให้ความหมายหรือจุดประสงค์ของหะดีษเพี้ยนไปจากเดิม   ไม่ทำให้ขัดแย้งในการบัญญัติหุก่มและข้อความหะดีษไม่ขาดหายไปจนทำให้กลายเป็นคนละตัวบท  ผิดจากการย่อของคนญาฮิล ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสนในความหมายของหะดีษได้ เช่น การละเลยเรื่องอิสติษนาอฺ (อัลอัสเกาะลานีย์  : 48 )
3. วิธีการรายงานแบบตัดสะนัด
การรายงานแบบตัดสะนัด หมายถึง การรายงานเฉพาะตัวบทหะดีษเท่านั้นไม่มีการกล่าวถึงสะนัด หรือกล่าวผู้รายงานเพียงเศาะหาบะฮฺเท่านั้น ส่วนผู้รายงานคนอื่น ๆ ถัดจากเศาะหาบะฮฺจนถึงสิ้นสุด     สะนัดไม่ได้กล่าวถึงแม้แต่คนเดียว
การรายงานเช่นนี้เป็นการปฏิบัติของอุละมาอฺฟิกฮฺและอุละมาอฺอุศูลอัลฟิกฮฺ อิมามอันนะวะวีย์กล่าวว่า  ส่วนการรายงานเฉพาะตัวบทหะดีษอย่างเดียวที่สอดคล้องกับหัวข้อฟิกฮฺสามารถทำได้ ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติที่ดีและอาจจะสามารถหลีกเลี่ยงจากการขัดแย้งได้อีกด้วย(อัลกอสิมีย์  : 224-225 ไม่ว่าด้านตัวบทหะดีษหรือการรับหุก่มต่าง ๆ จากหะดีษ
วิธีการที่ 2   การรายงานความหมายของหะดีษ
การรายงานหะดีษด้วยวิธีการนี้อุละมาอฺมีความเห็นที่แตกต่างกัน พอสรุปได้ดังนี้
กลุ่มที่หนึ่ง    ไม่เห็นด้วยกับการรายงานความหมายหะดีษ  โดยที่ไม่ได้รายงานตัวบทที่มาจากท่านนบีมุฮัมมัด r  ทัศนะนี้เป็นทัศนะของอุละมาอฺหะดีษ  อุละมาอฺฟิกฮฺและ         อุละมาอฺอุศูลุลอัลฟิกฮฺบางท่าน เช่น มุฮัมมัด เบ็ญ สีรีน อิบนุอะบีชัยบะฮฺ และท่านอื่น ๆ
กลุ่มที่สอง   เห็นด้วยกับการรายงานความหมายหะดีษ  โดยไม่จำเป็นต้องยกตัวบทก็ได้ ทัศนะนี้เป็นทัศนะของอุละมาอฺส่วนใหญ่ทั้งสะลัฟหรือคอลัฟจากอุละมาอฺฟิกฮฺหรืออุละมาอฺอุศูลฟิกฮฺ เช่น อิมามอะบูหะนีฟะฮฺ  อิมามมาลิก   อิมามอัชชาฟิอีย์ และ อิมามอะหฺมัด เบ็ญ หันบัล แต่มีเงื่อนไขว่าผู้ที่จะรายงานหะดีษด้วยความหมายนั้นจะต้องประกอบด้วยคุณลักษณะ  2 ประการ
1.  ผู้รายงานจะต้องเข้าใจตัวบทและเจตนารมณ์ของหะดีษเป็นอย่างดี
2.  ผู้รายงานจะต้องเชี่ยวชาญในการตีความหมายหะดีษได้อย่างถูกต้อง
นอกจากสองประการข้างต้นแล้ว ผู้รายงานหะดีษจะต้องกล่าวอย่างสม่ำเสมอด้วยกับคำว่า أو كما قالแปลว่า หรือดังที่ท่านนบีมุฮัมมัด r ได้กล่าวไว้ หรือกล่าวคำว่า أو نحوهแปลว่า หรือเสมือนคำพูดของท่านนบี r หรือกล่าวคำว่า شبهه أو แปลว่า อุปมากับคำพูดของท่านนบี ทุกครั้งเมื่อจบการรายงานหะดีษ
อิมามอัสสุยูฏีย์กล่าวว่า หากผู้รายงานไม่มีความรู้และไม่เชี่ยวชาญในการแปลความหมายหะดีษไม่อนุญาตให้รายงานหะดีษด้วยความหมายโดยไม่มีข้อสงสัยใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เขาจะต้องรายงานตัวบทหะดีษเหมือนที่เขาได้ฟังหะดีษ หรือรับมาจากอาจารย์ด้วยตนเอง(อัลกอสิมีย์  : 222 )
ดังนั้น   วิธีการที่ดีที่สุดในการรายงานหะดีษของท่านนบีมุฮัมมัด r คือ สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องรายงานตัวบทหะดีษ และไม่มีความจำเป็นที่จะรายงานหะดีษด้วยความหมาย เนื่อง จากปัจจุบันตัวบทและสะนัดหะดีษถูกบันทึกไว้ในตำราหะดีษต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าการบันทึกทั้งสะนัดและมะตัน หรือทำการบันทึกโดยเริ่มต้นจากเศาะหาบะฮฺผู้รับหะดีษโดยตรงจากท่านนบีมุฮัมมัด r และตำราหะดีษถูกตีพิมพ์อย่างแพร่หลายสามารถหาซื้อได้ไม่ยาก หากต้องการแสวงหาความรู้ที่มีคุณค่า

โจทย์ฝึกหัดเพิ่มเติม

1.  ความเป็นจริงของหะดีษเป็นอย่างไร ?
2.  ผู้ปฏิเสธหะดีษโดยเจตนาข้อบัญญัติว่าอย่างไร ?
3.  ฐานะของหะดีษหมายถึงอะไร ?
4.  ท่านมีวิธีการยึดมั่นในหะดีษของท่านนบีมุฮัมมัด r  อย่างไร ?
5.  ข้อบัญญัติของการยึดมั่นในหะดีษว่าอย่างไร ?
6.   การยึดมั่นในหะดีษมีความสำคัญอย่างไร ?
7.  การยึดมั่นในหะดีษสอนท่านด้านจริยธรรมอะไรบ้าง ?
8.  การรักต่อท่านนบีมุฮัมมัด r จะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น