เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
บล็อกนี้ เป็นบล็อกสำหรับทุกคนที่ต้องการรับรู้ถึงสังคมปัจจุบันว่ากำลังดำเนินไปในทิศทางใดและสังเกตุพฤติกรรมของมุสลิมในสังคมว่ามีสภาพว่าเป็นอย่างไร พร้อมกันนี้เพื่อนอิสลามจะคอยเป็นเพื่อนกับทุกท่านที่เข้ามาเยื่ยมชม ซึ่งสิ่งที่เราต้องการ คือ เป็นเพื่อนในอิิสลามของคุณตลอดไป และถ้าหากเห็นว่าบล็อกนี้มีประโยชน์ช่วยเม้นให้ด้วยนะ หรือ ถ้าหากจะต้องการเนื้อหาอะไรก็โพสได้นะครับ ยินดีเสมอครับ

วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555

บทที่ 5 การจำแนกหะดีษโดยพิจารณาผู้ที่ถูกพาดพิง

บทที่ 5

เป็นหนังสือที่ใช้สอนใน ของคณะอิสลามศึกษา มอ.ปัตตานี
โดย อาจารย์ อับดุลเลาะ การีนา มีทั้งหมด 7บท ต่อมาด้วยหะดีษต่างๆอีก 4 บทนะ

การจำแนกหะดีษโดยพิจารณาผู้ที่ถูกพาดพิง

 

หัวข้อย่อย
วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้
1. การจำแนกประเภทของหะดีษ
2. หะดีษกุดสีย์และความหมาย
3. หะดีษมัรฟูอฺและความหมาย
4. หะดีษเมากูฟและความหมาย
5. หะดีษมักฏูอฺและความหมาย
1. เข้าใจวิธีการแบ่งประเภทของหะดีษ
2. เข้าใจประมวลหะดีษกุดสีย์
3. เข้าใจประมวลหะดีษมัรฟูอฺ
4. เข้าใจประมวลหะดีษเมากูฟ
5. เข้าใจประมวลหะดีษมักฏูอฺ

ประเภทที่ 1   หะดีษกุดสีย์


1.   นิยาม

ตามหลักภาษาศาสตร์

คำว่า قدسيّแปลว่า สะอาด บริสุทธิ์ เช่น น้ำที่สะอาดหรือน้ำที่บริสุทธิ์ ดังนั้น หะดีษกุดสีย์ คือ หะดีษที่บริสุทธิ์

ตามหลักวิชาการ

หะดีษกุดสีย์ หมายถึง  หะดีษที่รายงานโดยท่านนบีมุฮัมมัด r ด้วยสายรายงานของท่านเองพาดพิงถึงอัลลอฮฺ Y ( มะหฺมูด อัตเฏาะหฺหาน  หน้า 120)
สาเหตุที่เรียกหะดีษเป็นหะดีษกุดสีย์เพราะคำพูดนั้นพาดพิงไปยังอัลลอฮฺ Y ซึ่งเป็นคำพูดที่สะอาดบริสุทธิ์

2.   การรายงานหะดีษกุดสีย์

สำหรับการรายงานหะดีษกุดสีย์นั้นสามารถรายงานโดยใช้สำนวนหนึ่งสำนวนใดจาก 2 สำนวนด้วยกัน
สำนวนที่ 1    ผู้รายงานกล่าวว่า จากท่านนบีมุฮัมมัด r ตามที่ท่านได้รายงานจากอัลลอฮฺ r หรือพระเจ้า พระองค์ทรงตรัสว่า “…………….” ตัวอย่างเช่น
عن ابن عباس رضي الله عنهما عن النبي صلى الله عليه وسلم فيما يروي عن ربه عزوجلّ قال : (( إن الله كتب الحسنات والسيئات، ثم بيّن ذلك، فمن همّ بحسنة فلم يعملها كتبها الله له عنده حسنة كاملة، فإن همّ فعملها، كتبها الله له عنده عشر حسنات إلى سبعمائة ضعف إلى أضعاف كثيرة. ومن همّ بسيئة فلم يعملها، كتبها الله عنده حسـنة كاملة، فإن هو همّ بها فعملها، كتبها الله سيئة واحدة ))

ความว่า จากอิบนุอับบาส r  เล่าจาก เราะสูลุลลอฮฺ r ตามที่ท่านได้กล่าวรายงานจากพระเจ้าของท่านทรงดำรัสว่า แท้จริงอัลลอฮฺได้บันทึกไว้ซึ่งความดีและความชั่ว  และพระองค์ได้อธิบายเรื่องดังกล่าว  ดังนั้น  ผู้ใดมีความประสงค์จะทำในสิ่งที่ดีแต่เขาไม่ได้ทำ  อัลลอฮฺจะบันทึกไว้สำหรับเขาหนึ่งความดี เมื่อเขาได้ปฏิบัติความดีนั้นอัลลอฮฺจะบันทึกให้แก่เขาสิบเท่าตัวจนถึงเจ็ดร้อยเท่าหรือมากกว่า และผู้ใดตั้งใจจะทำในสิ่งชั่ว       แต่เขาไม่ได้ทำ  อัลลอฮฺจะบันทึกให้เขาหนึ่งความดี  แต่เมื่อเขาลงมือทำสิ่งชั่วนั้น  อัลลอฮฺจะบันทึกแก่เขาหนึ่งเท่าเท่านั้น” (อัลบุคอรีย์  : 8/103)

สำนวนที่ 2    ผู้รายงานกล่าวว่า เราะสูลุลลอฮฺ r กล่าวว่า อัลลอฮฺ r ทรงตรัสว่า “……………….” ตัวอย่างเช่น
عن أبي هريرة رضي الله عنه قال رسول الله صلى الله عليه وسلم : إن الله عزوجلّ قال : (( من عادى لي وليًّا فقد آذنتُه بالحرب ))
ความว่า จากอะบูฮุรอยเราะฮฺ r กล่าวว่าเราะสูลุลลอฮฺ r ได้กล่าวว่า แท้จริง  อัลลอฮฺทรงตรัสว่า ผู้ใดทำเป็นศัตรูกับผู้นำของฉัน ฉันอนุญาตให้ทำสงครามกับเขา(อัลบุคอรีย์  : 11/340-341)
จากสองสำนวนที่ได้กล่าวข้างต้น  การรายงานหะดีษกุดสีย์จะใช้สำนวนเฉพาะ เจาะจง คือ สำนวนหนึ่งสำนวนใดเท่านั้น ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนเป็นสำนวนอื่นได้ ฉะนั้นการที่จะรู้จักหะดีษกุดสีย์นั้นจะต้องสังเกตสำนวนการรายงาน เพราะทั้งสองสำนวนนั้นจะใช้สำหรับรายงานหะดีษประเภทอื่น ๆ มิได้

3.  ข้อแตกต่างระหว่างหะดีษกุดสีย์กับอัลกุรอานและหะดีษนะบะวีย์

ระหว่างหะดีษกุดสีย์กับอัลกุรอานและหะดีษนะบะวีย์มีความแตกต่างทั้งทางด้านตัวบทและความหมาย คือ

. อัลกุรอาน

1. อัลกุรอานเป็นคำตรัสที่เต็มไปด้วยมุอฺญิซะฮฺ
2. อัลกุรอานมาจากอัลลอฮฺ Y ทั้งตัวบทและความหมาย
3. อัลกุรอานใช้ประกอบอิบาดะฮฺได้
4. อัลกุรอานถูกประทานลงมาโดยผ่านมลาอิกะฮฺญิบรีล
5. อัลกุรอานไม่อนุญาตให้จับหรือแตะต้องถ้าไม่มีวุฎุอฺ (น้ำละหมาด)
6. อัลกุรอานต้องมาจากการรายงานอย่างมุตะวาติร

. หะดีษกุดสีย์

1. หะดีษกุดสีย์ไม่ใช่คำพูดที่เป็นมุอฺญิซะฮฺ
2. หะดีษกุดสีย์มาจากอัลลอฮฺYในแง่ความหมาย ส่วนถ้อยคำเป็นของท่านนบี r
3. หะดีษกุดสีย์ใช้ประกอบอิบาดะห์ไม่ได้
4. หะดีษกุดสีย์ไม่จำเป็นต้องผ่านมลาอิกะฮฺญิบรีล
5.  หะดีษกุดสีย์อนุญาตให้จับหรือแตะต้องโดยไม่มีวุฎุอฺ
6. หะดีษกุดสีย์ไม่จำเป็นต้องมาจากการรายงานอย่างมุตะวาติร

. หะดีษนะบะวีย์

1. หะดีษนบีไม่ใช่คำพูดที่เป็นมุอญิซะฮฺ
2. หะดีษนบีทั้งตัวบทและความหมายมาจากท่านนบีมุฮัมมัด r
3. หะดีษนบีใช้ประกอบอิบาดะฮฺไม่ได้
4. หะดีษนบีไม่จำเป็นต้องผ่านมลาอิกะฮฺญิบรีล
5. หะดีษนบีอนุญาตจับหรือสัมผัสโดยไม่มีวุฎุอฺ
6. หะดีษนบีมุฮัมมัด r มีทั้งหะดีษมุตะวาติรและหะดีษอาห๊าด
ที่จริงแล้วข้อแตกต่างระหว่างหะดีษกุดสีย์กับอัลกุรอานและหะดีษนะบะวีย์มีอีกมากมายที่ยังไม่ได้ระบุไว้ในหนังสือเล่มนี้ ไม่ว่าจะพิจารณาด้านใดก็ตาม เช่น สำนวนโวหาร การนำมาใช้เป็นหลักฐาน การประกอบอิบาดะฮฺ หุก่มหะกัม ความเป็นมุอฺญิซะฮฺ เป็นต้น

4.  จำนวนหะดีษกุดสีย์

หะดีษกุดสีย์มีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับหะดีษนะบะวีย์โดยประมาณมีจำนวน 200 กว่าหะดีษเท่านั้น

5. ระดับของหะดีษกุดสีย์

หะดีษกุดสีย์มีหลายระดับด้วยกันทั้งที่เป็นหะดีษกุดสีย์เศาะหีหฺ   หะดีษกุดสีย์หะซัน  หะดีษกุดสีย์ฎออีฟ  และหะดีษกุดสีย์เมาฎูอฺ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานภาพของผู้รายงานแต่ละท่านทั้งทางด้านคุณธรรมและความบกพร่อง ทั้งนี้ เพราะหะดีษกุดสีย์มีสายรายงานเหมือนกับหะดีษนะบะวีย์ที่ประกอบด้วยผู้รายงานที่มีสถานภาพหลากหลาย

6.   การนำมาใช้เป็นหลักฐาน

หะดีษกุดสีย์ที่อยู่ในระดับเศาะหีหฺหรือหะสันจำเป็นจะต้องนำมาใช้เป็นหลักฐาน ส่วนหะดีษกุดสีย์ที่มีระดับเฎาะอีฟหรือเมาฎูอฺไม่อนุญาตให้นำมาใช้เป็นหลักฐาน

7.   ตำราที่เกี่ยวข้อง

كتاب الاتحافات السنية بالأحاديث القدسية، عبدالرؤوف المناوي
หนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมหะดีษกุดสีย์เป็นการเฉพาะมีจำนวน 272  หะดีษ

ประเภทที่ 2   หะดีษมัรฟูอฺ


1.   นิยาม

ตามหลักภาษาศาสตร์
คำว่า مرفوعแปลว่า ยกขึ้นไปยัง หรือพาดพิงถึง เช่น ยกสิ่งของไปยังคนหนึ่งคนใด หรือพาดพิงถึงคน ๆ หนึ่ง  ในด้านภาษาคำว่า مرفوع จะใช้ได้กับท่านนบีมุฮัมมัด r บุคคลทั่วไป หรือแม้แต่สิ่งของก็ตาม
ตามหลักวิชาการ
หะดีษมัรฟูอฺ คือ สิ่งที่ผู้รายงานพาดพิงึงท่านนบีมุฮัมมัด r โดยระบุเป็นคำพูด         การกระทำ การยอมรับ หรือคุณลักษณะตลอดจนชีวประวัติของท่านนบี

2.   ชนิดและตัวอย่างของหะดีษมัรฟูอฺ

จากนิยามข้างต้นพอสรุปได้ว่า  หะดีษมัรฟูอฺมี 4 ชนิดด้วยกัน คือ มัรฟูอฺเกาลีย์   (ที่เป็นคำพูด)   มัรฟูอฺฟิอฺลีย์ (การกระทำ) มัรฟูอฺตักรีรีย์ (การยอมรับ) และมัรฟูอฺวัศฟีย์ (คุณลักษณะ)
ชนิดที่ 1    หะดีษมัรฟูอฺเกาลีย์ (المرفوع القوليّ)
หมายถึง  คำพูดของท่านนบี r ที่ได้กล่าวในสถานการณ์ต่าง ๆ จะเกี่ยวกับเรื่องศาสนาหรือเรื่องทางโลก เช่น การดุอาอฺ การให้คำตักเตือน การอ่าน เป็นต้น
หะดีษมัรฟูอฺชนิดนี้ เรียกอีกชื่อว่า หะดีษเกาลีย์ ตัวอย่าง  มีเศาะหาบะฮฺท่านหนึ่งได้รายงานว่า  ท่านนบีมุฮัมมัด r ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งในสถานการณ์ สถานที่ และเวลา เป็นต้น เช่น กล่าวถึงเรื่องหะลาลและหะรอม การห้าม   คำตักเตือน และอื่น ๆ
หะดีษมัรฟูอฺเกาลีย์จะให้หุก่มทั้งที่เป็นวาญิบ  สุนัต หะรอม และมักรูฮฺ ซึ่งขึ้นอยู่กับสำนวนคำพูดที่กล่าวออกมาหรือกรณีแวดล้อมอื่น ๆ
ชนิดที่ 2    หะดีษมัรฟูอฺฟิอฺลีย์ (المرفوع الفعليّ)
หมายถึง  การกระทำของท่านนบีมุฮัมมัด r ต่อหน้าเศาะหาบะฮฺหรือต่อหน้าท่านหญิงในกลุ่มภริยาของท่าน การกระทำในทุก ๆ อิริยาบถของท่านนบี r ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว  อิบาดะฮฺ   มุอามะลาต มุนากะฮาต เป็นต้น
หะดีษมัรฟูอฺฟิอฺลีย์ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  หะดีษฟิอฺลีย์  ตัวอย่างเช่น เศาะหาบะฮฺ กล่าวว่า  การกระทำของท่านนบี r อย่างนี้หรือท่านนบีได้ปฏิบัติในลักษณะนี้
หะดีษมัรฟูอฺฟิอฺลีย์จะให้หุก่มทั้งที่เป็นวาญิบ สุนัต หะรอม และมักรูฮฺ เหมือนกับ หุก่มของหะดีษมัรฟูอฺเกาลีย์
ชนิดที่ 3    หะดีษมัรฟูอฺตักรีรีย์ (المرفوع التقريريّ)
หมายถึง  การยอมรับของท่านนบีมุฮัมมัด r ต่อการกระทำของเศาะหาบะฮฺบางคนที่ได้ปฏิบัติต่อหน้าท่านนบี r หรือให้การยอมรับต่อคำอ่านของเศาะหาบะฮฺบางคนที่ได้อ่านต่อหน้าท่าน
หะดีษมัรฟูอฺชนิดนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หะดีษตักรีรีย์ ตัวอย่างเช่น เศาะหาบะฮฺท่านหนึ่งกล่าวว่า  ได้มีการปฏิบัติต่อหน้าท่านนบีมุฮัมมัด r อย่างนี้ และไม่มีการปฏิบัติจากท่านในเรื่องดังกล่าว การให้การยอมรับของท่านนบีมุฮัมมัด r มักจะใช้สำนวนที่หลากหลาย เช่น
1. สำนวนที่ชัดเจนต่อข้อซักถามของเศาะหาบะฮฺ เช่น  ท่านนบีมุฮัมมัด r กล่าวว่า คุณปฏิบัติถูกต้องแล้ว” (أَصَبْتَ)
2. สำนวนที่พูดในเชิงให้กำลังใจต่อการกระทำของเศาะหาบะฮฺ หรือต่อคำพูดของพวกเขา เช่น ท่านนบี r กล่าวว่า แท้จริงอัลลอฮฺ Y ทรงรักเขา(إن الله يحبه) เป็นต้น
3. การเงียบต่อการกระทำของเศาะหาบะฮฺบางคน กล่าวคือ ท่านนบีมุฮัมมัด r ไม่ได้ปฏิเสธ หรือไม่ได้ให้การยอมรับ เช่น ไม่ได้สั่งและไม่ได้ห้ามเศาะหาบะฮฺ
หะดีษมัรฟูอฺตักรีรีย์จะมีเพียงหุก่มเดียวเท่านั้น คือ หุก่มมุบาหฺ (ฮารุส) อนุญาตให้ปฏิบัติได้  กล่าวคือ ผู้ใดต้องการปฏิบัติก็สามารถทำได้และผู้ใดไม่ประสงค์จะปฏิบัติก็ไม่ผิดกับบทบัญญัติอิสลามแต่อย่าง
ชนิดที่ 4    หะดีษมัรฟูอฺวัศฺฟีย์ (المرفوع الوصفيّ)
หมายถึง   คุณลักษณะที่ท่านนบีได้ปฏิบัติในทุกอิริยาบถและในทุกสถานการณ์  ตลอดชีวิต เช่น  เศาะหาบะฮฺกล่าวว่า  ท่านนบี r ปฏิบัติตัวอย่างนี้ หรือท่านกล่าวเช่นนี้ เป็นต้น
หะดีษมัรฟูอฺตามลักษณะเช่นนี้เรียกอีกชื่อว่า  หะดีษวัศฺฟีย์
หะดีษมัรฟูอฺวัศฟีย์จะมีหุก่มทั้งที่เป็นหุก่มวาญิบ  สุนัต และมุบาหฺ  ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีหากมีการปฏิบัติตามดังเช่นการปฏิบัติของท่านนบีมุฮัมมัด r

3.   ระดับของหะดีษมัรฟูอฺ

หะดีษมัรฟูอฺมีหลายระดับทั้งที่เป็นหะดีษเศาะหีหฺ หะดีษหะซัน หะดีษเฎาะอีฟ หะดีษฎออีฟญิดดัน และเมาฎูอฺ  หะดีษทั้งห้าระดับนี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานภาพของผู้รายงานหะดีษแต่ละคนตั้งแต่ช่วงต้น ช่วงกลางหรือช่วงสุดท้ายของสะนัด

4.   การนำมาใช้เป็นหลักฐานและปฏิบัติตาม

หะดีษมัรฟูอฺนั้นใช่ว่าสามารถใช้เป็นหลักฐานได้ทั้งหมด หากแต่บางหะดีษใช้เป็นหลักฐานได้และบางหะดีษก็ใช้เป็นหลักฐานไม่ได้  ตามทัศนะของอุละมาอฺหะดีษ  หาก   หะดีษนั้นสามารถพาดพิงไปยังท่านนบีมุฮัมมัด r ด้วยกระบวนการรายงานที่ถูกต้องแล้ว       วาญิบจะต้องปฏิบัติตามและนำมาใช้เป็นหลักฐานได้

ประเภทที่ 3   หะดีษเมากูฟ


1.   นิยาม

ตามหลักภาษาศาสตร์

คำว่า موقوفเป็นอาการนามในรูปของมัฟอูล (กรรม) มาจากคำว่า الوقْف”  ซึ่งแปลว่า หยุด หรือสุดที่

ตามหลักวิชาการ

หมายถึง  สิ่งที่พาดพิงถึงบรรดาศอหาบะฮฺจะเป็นคำพูด  การกระทำ  และการยอมรับ  ที่ไม่ใช่พาดพิงถึงท่านนบีมุฮัมมัด r  (อัลอิรอกีย์  หน้า 51)
การที่เรียกว่า หะดีษเมากูฟนั้นก็เนื่องจากสิ้นสุดคำพูด การกระทำ และการยอมรับเพียงแค่เศาะหาบะฮฺเท่านั้น

2.                ชนิดและตัวอย่างของหะดีษเมากูฟ

จากนิยามข้างต้น หะดีษเมากูฟสามารถจำแนกออกเป็น  ชนิดดังนี้
ชนิดที่ 1   หะดีษเมากูฟเกาลีย์ (الموقوف القوليّ)
หมายถึง  คำพูดของเศาะหาบะฮฺที่ได้กล่าวในเวลาและสถานที่ต่าง ๆ ที่ไม่มี      ส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับท่านนบีมุฮัมมัด  r
คำพูดหรือคำกล่าวของเศาะหาบะฮฺที่ผู้รายงานแอบอ้างได้ยินหรือเห็นโดยตรงจากเศาะหาบะฮฺซึ่งไม่มีกรณีแวดล้อม หรือ เกาะรีนะฮฺ บ่งชี้ถึงการอ้างมาจากท่านนบีมุฮัมมัด r แม้แต่คำเดียว  แต่หากมีกรณีแวดล้อมแสดงถึงการพาดพิงถึงท่านนบีจะไม่เรียกว่า หะดีษเมากูฟ เช่น ผู้รายงานกล่าวว่า  มีเศาะหาบะฮฺท่านหนึ่งกล่าวว่า “…………….” ตัวอย่าง
قال عليّ بن أبي طالب رضي الله عنه : " حدثوا الناس بما يعرفون، أتريدون أن يكذب الله ورسوله "

แปลว่า อาลี เบ็ญอะบีฏอเล็บ t กล่าวว่าจงอธิบายให้คนอื่นฟังด้วยภาษาที่พวกเขาเข้าใจ หรือว่าพวกเจ้าต้องการจะกล่าวโกหกต่ออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์(อัลบุคอรีย์  : 1/56)

ชนิดที่ 2   หะดีษเมากูฟฟิอฺลีย์ (الموقوف الفعليّ)
หมายถึง  การกระทำของเศาะหาบะฮฺที่เกิดขึ้นในทุก สถานการณ์ ทุก ๆ อิริยาบถและลักษณะต่างๆ
การกระทำของเศาะหาบะฮฺที่เป็นเมากูฟนั้นต้องมาจากการรายงานที่อ้างถึงพวกเขาโดยตรงและไม่เกี่ยวข้องกับท่านนบีมุฮัมมัด r แต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น ผู้รายงานกล่าวว่า    เป็นการกระทำของเศาะหาบะฮฺท่านนี้ หรือมีเศาะหาบะฮฺท่านหนึ่งได้กระทำสิ่งนี้ เป็นต้น
قال البخاريّ _ رحمه الله : " وأمّ ابن عباس وهو متيمم "
แปลว่า  อิมามอัลบุคอรียกล่าวว่า  อิบนุอับบาสเป็นอิมามนำละหมาดทั้ง ๆ ที่ท่านตะยำมุม (อัลบุคอรีย์ : 1/82)
ชนิดที่ 3   หะดีษเมากูฟตักรีรีย์ (الموقوف التقريريّ)
หมายถึง  เศาะหาบะฮฺให้การยอมรับต่อคำพูดหรือการกระทำของคนหนึ่งคนใดที่ปรากฏต่อหน้าพวกเขาหรือจากการบอกเล่าให้แก่พวกเขา
ตัวอย่างหะดีษเมากูฟตักรีรีย์ เช่น  ตาบิอีนท่านหนึ่งได้รายงานว่า เขาได้ปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดต่อหน้าเศาะหาบะฮฺท่านหนึ่ง แต่ไม่ได้รับการปฏิเสธจากพวกเขาแม้แต่คนเดียว หรือตาบิอีนกล่าวว่า เขาได้กระทำสิ่งหนึ่งต่อหน้าเศาะหาบะฮฺท่านหนึ่งเศาะหาบะฮฺท่านนั้นให้การยอมรับต่อการกระทำหรือพวกเขาไม่ปฏิเสธ ดังที่ปรากฏในคอบัรต่อไปนี้
أن عمر بن الخطاب رضي الله عنه نهى عن المغالات في المهور، فقالت امرأة : ليس ذلك إليك يا عمر، أن الله عزوجلّ يقول : ] وآتيتم إحداهنّ قنطاراً من ذهب [. وقال : كلكم أفقه من عمر.
แปลว่า  แท้จริงอุมัร เบ็ญ อัลค๊อฏฏอบได้ห้ามเรียกค่ามะฮัรแพง (เกินกว่าเหตุ)  มีผู้หญิงท่านหนึ่งกล่าวว่า  เรื่องนี้ไม่ใช่สำหรับตัวท่านแต่อย่างใด  นางก็อ่านอายะฮฺ  [وآتيتم إحداهنّ قنطـاراً من ذهب ] (ซูเราะฮฺอันนิสาอฺ : 20)  ความว่า และเจ้าจงมอบแก่พวกนางสิ่งมีค่าจากทอง และอุมัรกล่าวว่า  ทุกคนในกลุ่มพวกเจ้าเข้าใจ (เรื่องมะฮัร) ดีกว่าอุมัรเสียอีก” (อับดุรรอซาคฺ อ้างใน อัศศ๊อนอานีย์ : 3/321)
สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือ   การที่ผู้รายงานกล่าวพาดพิงถึงเศาะหาบะฮฺ   และ เศาะหาบะฮฺกล่าวพาดพิงไปยังท่านนบีมุฮัมมัด r ในลักษณะใดก็ตามที่สามารถเข้าใจว่ามาจากท่านนบี r กรณีเช่นนี้ไม่ใช่เป็นหะดีษเมากูฟ แต่เป็นหะดีษมัรฟูอฺ

3.   ระดับของหะดีษเมากูฟ

หะดีษเมากูฟไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกัน แต่บางหะดีษอยู่ในระดับหะดีษศอหีฮฺ  บางหะดีษอยู่ในระดับหะสัน และบางหะดีษอยู่ในหะดีษเฎาะอีฟ

4.   การนำมาใช้เป็นหลักฐานและปฏิบัติตาม

การนำหะดีษเมากูฟมาเป็นหลักฐานนั้นให้พิจารณาจาก    ประการ คือ ประการแรก หะดีษเมากูฟที่ไม่ใช่หุก่มมัรฟูอฺ หากอยู่ในระดับหะดีษเมากูฟที่เศาะหีหฺหรือหะสันก็สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานได้ และยังสามารถให้การสนับสนุนหะดีษมัรฟูอฺเฎาะอีฟอีกด้วย เนื่องจากบรรดาเศาะหาบะฮฺจะปฏิบัติตามสุนนะห์ และประการที่สองคือ หะดีษเมากูฟที่มีหุก่มเป็นมัรฟูอฺก็มีฐานะเหมือนกับหะดีษมัรฟูอฺทุกประการ
ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น คือ ในกรณีที่หะดีษเมากูฟไม่ขัดแย้งกับหะดีษมัรฟูอฺที่ใช้เป็นหลักฐานได้  ส่วนหะดีษเมากูฟที่ขัดแย้งกับหะดีษมัรฟูอฺที่มีฐานะเฎาะอีฟ  อุละมาอฺมีความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งบางทัศนะระบุว่า ให้นำหะดีษเมากูฟใช้เป็นหลักฐาน และบางทัศนะกล่าวว่า ให้นำหะดีษมัรฟูอฺเฎาะอีฟเป็นหลักฐานได้ แต่ในกรณีหะดีษเมากูฟขัดแย้งกับหะดีษเมาฎูอฺ จะต้องใช้หะดีษเมากูฟเป็นหลักฐาน  ถึงแม้ว่าจะอยู่ในระดับหะดีษเฎาะอีฟก็ตาม
แต่ในทางปฏิบัติจริง การนำหะดีษเมากูฟมาเป็นหลักฐานนั้นมีอุลามาอฺ 2 กลุ่ม    ด้วยกัน คือ
กลุ่มที่หนึ่ง   เป็นการปฏิบัติของอิมามอัชชาฟิอีย์ อิมามอะหฺมัด เบ็ญ หันบัล อิมาม อัลบัยฮะกีย์และอื่น ๆ  ใช้หะดีษเมากูฟเป็นหลักฐาน  ตามทัศนะของอุละมาอฺบางกลุ่ม   หะดีษเมากูฟต้องมาก่อนกิยาสเสมอ (มัดกูร  : 81)  ตัวอย่าง  เช่น การยกมือทั้งสองข้างในการละหมาด  ญะนาซะฮฺ  ซึ่งอุละมาอฺกลุ่มนี้ให้ฟัตวาว่า  สุนัตให้ยกสองมือทุกครั้งเมื่อกล่าวตักบีร ทั้ง   4 ครั้งโดยยึดหะดีษเมากูฟของ   อิบนุ อุมัร y  ที่มีฐานะเป็นหะดีษหะสัน (อัลบัยฮะกีย์  : 3/258)
กลุ่มที่สอง  เป็นการปฏิบัติของอิมามอะบูหะนีฟะฮฺ ซึ่งมีความเห็นว่าหะดีษเมากูฟใช้เป็นหลักฐานไม่ได้  เนื่องจากเป็นเพียงคำพูดของคนบางคนเท่านั้น  คำพูดนั้นอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ (มัดกูร : 81)    ด้วยเหตุดังกล่าว อิมามอะบูหะนีฟะฮฺกล่าวว่า ไม่สุนัตในการยกมือทั้งสองข้างขณะกล่าวตักบีรในละหมาดญะนาซะฮฺทั้งสี่ครั้ง ท่านใช้หะดีษมัรฟูอฺเฎาะอีฟถือเป็นหลักฐานเพื่อยืนยันต่อฟัตวาดังกล่าว (อะบูดาวูด : 2/169)

หะดีษเมากูฟที่มีหุก่มเป็นหะดีษมัรฟูอฺ


นอกจากหะดีษเมากูฟที่ได้อธิบายไปแล้วนั้น  จะมีหะดีษเมากูฟอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในนาม หะดีษเมากูฟที่มีฐานะเป็นหุก่มมัรฟูอฺ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า หะดีษเมากูฟหุกมีย์   ที่เรียกหะดีษเช่นนี้ก็เพราะเป็นคำกล่าวหรือการกระทำของเศาะหาบะฮฺแต่มีการเกี่ยวพันกันกับท่านนบีมุฮัมมัด r ในเรื่องนั้น ๆ ในด้านของหุก่ม กล่าวคือ ตัวบทหะดีษเป็นเมากูฟแต่หุก่มของหะดีษเป็นมัรฟูอฺ โดยทั่วไปแล้วหะดีษในลักษณะนี้มี 3 ลักษณะด้วยกัน คือ
ลักษณะที่ 1   คำพูดของเศาะหาบะฮฺที่ไม่อยู่ในกรอบของการอิจญ์ติฮาดและไม่ได้อยู่ในฐานะของการอธิบายศัพท์หรือขยายความเอง ตัวอย่างเช่น
1.  คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านมาในอดีตเกี่ยวกับการสร้างมัคลู้ก
2. คำพูดที่กล่าวถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเช่น มีการพูดถึงการฆ่าฟันกัน ฟิตนะฮฺต่าง ๆ และวันกิยามะฮฺ เป็นต้น
3. คำพูดที่กล่าวถึงผลตอบแทนที่มีต่อมนุษย์
ลักษณะที่ 2    ผู้รายงานกล่าวรายงานหะดีษแต่พาดพิงถึงเศาะหาบะฮฺโดยใช้คำหนึ่งคำใดต่อไปนี้ يرفعهหรือ ينميهหรือ يبلغ بهหรือ رواية عنه  ตัวอย่างเช่น     หะดีษจากการรายงานของอัลอะอฺร๊อจญ์ กล่าวว่า
عن أبي هريرة رضي الله عنه رواية : تقاتلون قوماً صغار الأعين
ความว่า  จากอะบูฮุรอยเราะฮฺในบางสายรายงานกล่าวว่า  พวกเขาจะต่อสู่กับกลุ่มหนึ่งที่มีอายุน้อย (อัลบุคอรีย์ : 4/56)
ลักษณะที่ 3   ผู้รายงานกล่าวว่า  มีเศาะหาบะฮฺท่านหนึ่งกล่าวรายงานหะดีษโดยสำนวนการรายงานต่อไปนี้ أمرنا بكذاหรือ نهينا عن كذاหรือ من السنة كذاและใช้สำนวนอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน ตัวอย่างเช่น
1.  คำพูดของเศาะหาบะฮฺบางท่านกล่าวว่า
  أمرنا بلال أن يشفع الأذان، وأن يوتر الإقامة
ความว่า บิลาลได้สั่งพวกเราให้กล่าวอะซานในสำนวนเป็นคู่และกล่าวอิกอมัตเป็นคี่(อัลบุคอรีย์  : 2/189)
2.  คำพูดของอุมมุอะฏิยะฮฺกล่าวว่า
نهينا عن اتباع الجنائز، ولم يعزم علينا
ความว่า พวกเราเป็นที่ห้ามติดตามญะนาซะฮฺ (ศพ) แต่ไม่ใช่เป็นการสั่งห้ามเด็ดขาด(อัลบุคอรีย์  : 3/56 )
3.  คำรายงานของอะบูกิลาบะฮฺจากญาบิร t กล่าวว่า
من السنة إذا تزوجّ البكر على الثيب أقام عندها سبعاً
ความว่า บางส่วนที่เป็นสุนนะฮฺ คือ เมื่อมีการแต่งงานกับหญิงสาวในบรรดาหญิงม่ายให้อยู่กับนางเป็นเวลาเจ็ดวัน” (อัลบุคอรีย์ : 8/68)
นอกจากสำนวนที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีอีกหลายสำนวนที่กล่าวในทำนอง  และมีความหมายเดียวกันซึ่งไม่จำเป็นต้องอธิบายซ้ำอีก
อย่างไรก็ตาม หะดีษเมากูฟที่มีหุก่มเป็นมัรฟูอฺก็สามารถใช้เป็นหลักฐานได้หากการรายงานของหะดีษนั้น ๆ มีฐานะเป็นหะดีษเศาะหีหฺหรือหะดีษหะซัน แต่หากการรายงานไม่ได้อยู่ในระดับเศาะหีหฺหรือหะซันไม่อนุญาตนำมาใช้เป็นหลักฐานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับ อะกีดะฮฺ  อิบาดะฮฺ  การนิกาฮฺ  เป็นต้น  แต่บางทัศนะมีความเห็นว่า  หะดีษเมากูฟหุก่ม  มัรฟูอฺใช้เป็นหลักฐานได้โดยไม่ต้องวิเคราะห์สถานภาพของหะดีษแต่อย่างใด เนื่องจากบรรดาเศาะหาบะฮฺได้ปฏิบัติตามท่านนบีในทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่ต้องสงสัยใด ๆ ทั้งสิ้น

ประเภทที่ 4   หะดีษมักฏูอฺ

1.   นิยาม

ตามหลักภาษาศาสตร์
คำว่า مقطوعเป็นอาการนามในรูปของกรรม (อิสมฺ มัฟอูล) จากคำว่า قَطَعَแปลว่า ขาด ตรงกันข้ามกับคำว่า الوصْلُแปลว่า ถึงหรือติอต่อ   ดังนั้น หะดีษมักฏูอฺ หมายถึง หะดีษที่มีการรายงานไม่ถึงต้นสาย คือ เราะสูลุลลอฮฺ r และเศาะหาบะฮฺ y
ตามหลักวิชาการ
หะดีษมักฏูอฺ คือ สิ่งที่พาดพิงไปยังตาบิอีนเท่านั้นทั้งที่เป็นคำพูดและการกระทำ (อัสสุยูฏีย์  : 2/ 96 )
หะดีษประเภทนี้สามารถใช้กับคำพูดหรือการกระทำของตาบิอฺ ตาบิอีน เช่น คำพูดของอิมามมาลิก เบ็ญ อะนัส  อิมามอัชชาฟิอีย์  อิมามอัษเษารีย์ เป็นต้น  และยังสามารถใช้กับคำพูดหรือการกระทำของอัตบาอฺ ตาบิอฺ ตาบิอีนเช่นกัน เช่น  คำพูดหรือการกระทำของอิบนุอุยัยนะฮฺ  อิบนุอุลัยยะฮฺ และท่านอื่น ๆ

2.   ชนิดและตัวอย่างของหะดีษมักฏูอฺ

จากนิยามข้างต้น  หะดีษมักฏูอฺแบ่งออกเป็น  2 ชนิด
ชนิดที่ 1   หะดีษมักฏูอฺเกาลีย์ (المقطوع القوليّ)
หมายถึง  คำพูดของตาบิอีน  ตาบิอฺตาบิอีน และอัตบาอฺ ตาบิอฺ ตาบิอีนที่ได้กล่าวในเวลาและสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น คำพูดของอัลหะซัน อัลบัศรีย์ เกี่ยวกับละหมาดตาม หลังอิมามมุบตะดิอฺ (อุตริ) กล่าวว่า จงละหมาดเถิดถึงแม้ว่าเขาจะทำในเรื่องอุตริก็ตาม(อัลบุคอรีย์  : 1/158)
ชนิดที่ 2   หะดีษมักฏูอฺฟิอฺลีย์ (المقطوع الفعليّ)
หมายถึง  การกระทำของตาบิอีน  ตาบิอฺตาบิอีน หรืออัตบาอฺ ตาบิอฺตาบิอีน เช่น คำรายงานของอิบรอเฮ็ม เบ็ญ มุฮัมมัด เบ็ญ อัลมุนตะศิรที่กล่าวว่า  อิมามมัสรูคได้กั้นม่านระหว่างเขากับครอบครัวของเขา ท่านก็หันหน้าทางกิบลัตในเวลาละหมาด ประกอบ อิบาดะฮฺ และใช้สำหรับพูดคุยเรื่องดุนยา ณ สถานที่นั้น(อัดดัยละมีย์  : 2/96)

3.   ระดับของหะดีษมักฏูอฺ

หะดีษมักฏูอฺมีทั้งที่เป็นหะดีษมักฏูอฺเศาะหีหฺ หะดีษมักฏูอฺหะสัน และหะดีษมักฏูอฺ เฎาะอีฟ และหะดีษมักฏูอฺเมาฎูอฺ

4.   การนำมาใช้เป็นหลักฐาน

หะดีษมักฏูอฺไม่อนุญาตให้นำมาใช้เป็นหลักฐานได้ในเรื่องเกี่ยวกับบทบัญญัติอิสลามและเรื่องอื่น ๆ  เนื่องจากเป็นคำพูดหรือการกระทำของบุคคลหนึ่งเท่านั้น   แต่หากมีกรณีแวดล้อมบ่งชี้อย่างชัดเจนว่ามาจากเศาะหาบะฮฺโดยใช้สำนวนรายงานที่ชัดเจน เช่น قالหะดีษมักฏูอฺในลักษณะนี้ จะมีหุก่มเป็นหุก่มมัรฟูอฺมุรซัล
อีกประการหนึ่งที่สำคัญเกี่ยวกับคำพูดของบรรดาอุละมาอฺตาบิอีน  ตาบิอฺตาบิอีน    และอัตบาอฺ ตาบิอฺตาบิอีนดังนี้
เมื่อพวกเขากล่าวว่า كانوا يفعلون كذاแปลว่า พวกเขาได้ปฏิบัติอย่างนี้  หรือกล่าวว่า كانوا يقولون كذاแปลว่า พวกเขาได้กล่าวเช่นนี้  หรือกล่าวว่า لا يرون بذلك بأساًแปลว่า พวกเขามีความเห็นว่านั้นไม่เป็นไร  สำนวนเหล่านี้มีความหมายแสดงการพาดพิงถึงเศาะหาบะฮฺทั้งที่เป็นคำพูด การกระทำหรือแม้แต่การยอมรับ  เว้นแต่มีหลักฐานบ่งชี้อย่างชัดเจนว่ามาจากคนอื่น ในทำนองเดียวกัน  เมื่อพวกเขากล่าวว่า كان السلف يفعلون كذاแปลว่า ชาวสะลัฟได้ปฏิบัติอย่างนี้ หรือกล่าวว่า يقولون كذاแปลว่า  ชาวสะลัฟได้กล่าวเช่นนี้         
สำนวนต่าง ๆ เหล่านี้มีความหมายเจาะจงใช้กับเศาะหาบะฮฺเท่านั้น  เพราะคำว่า สะลัฟที่มาจากคำพูดของตาบิอีน คือ เศาะหาบะฮฺ แต่หากเป็นคำกล่าวของคนอื่นจะมีความหมายดังนี้
ตาบิอฺตาบิอีนกล่าวว่า ชาวสะลัฟ  หมายถึงเศาะหาบะฮฺและตาบิอีน
อัตบาอฺ ตาบิอฺตาบิอีน กล่าวว่า ชาวสะลัฟ หมายความถึง เศาะหาบะฮฺ  ตาบิอีน และตาบิอฺตาบิอีน
หากกล่าวว่า ชาวสะลัฟ ที่มาจากคำพูดของคนในสมัยต่อ ๆ มาหรือคนในสมัย    มุตะอัคคิรูน หมายถึง เศาะหาบะฮฺ  ตาบิอีน  ตาบิอฺตาบิอีน และอัตบาอฺ ตาบิอฺตาบิอีน หรือผู้ที่มีชีวิตอยู่ในช่วง 300 ปีแรกแห่งฮิจเราะฮฺศักราช

โจทย์ฝึกหัดเพิ่มเติม

1.  การแบ่งประเภทของหะดีษพิจารณาด้านใดเป็นอันดับแรก ?
2.  หะดีษกุดสีย์หมายถึงหะดีษอย่างไร ?
3.  หะดีษกุดสีย์มีกี่ชนิด  อะไรบ้าง ?
4.  หะดีษกุดสีย์ใช้เป็นหลักฐานได้หรือไม เพราะเหตุใด ?
5.  หะดีษมัรฟูอฺหมายถึงหะดีษอย่างไร ?
6.   หะดีษมัรฟูอฺมีกี่ชนิด อะไรบ้าง?
7.  หะดีษมัรฟูอฺแต่ละชนิดใช้เป็นหลักฐานได้หรือไม เมื่อไร ?
8.  หะดีษเมากูฟหมายถึงหะดีษอย่างไร ?
9. หะดีษเมากูฟใช้เป็นหลักฐานได้หรือไม เพราะเหตุใด ?
10. หะดีษเมากูฟแตกต่างจากหะดีษมัรฟูอฺด้านใด ?
11. หะดีษมักฏูอฺหมายถึงหะดีษอย่างไร
12. หะดีษมักฏูอฺใช้เป็นหลักฐานได้หรือไม เพราะเหตุใด ?
13. การมีมารยาทต่อหะดีษกุดสีย์อย่างไร ?
14. การมีมารยาทต่อหะดีษมัรฟูอฺอย่างไร ?
15. การมีมารยาทต่อหะดีษเมากูฟอย่างไร ?
16. การมีมารยาทต่อหะดีษมักฏูอฺอย่างไร ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น