เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
บล็อกนี้ เป็นบล็อกสำหรับทุกคนที่ต้องการรับรู้ถึงสังคมปัจจุบันว่ากำลังดำเนินไปในทิศทางใดและสังเกตุพฤติกรรมของมุสลิมในสังคมว่ามีสภาพว่าเป็นอย่างไร พร้อมกันนี้เพื่อนอิสลามจะคอยเป็นเพื่อนกับทุกท่านที่เข้ามาเยื่ยมชม ซึ่งสิ่งที่เราต้องการ คือ เป็นเพื่อนในอิิสลามของคุณตลอดไป และถ้าหากเห็นว่าบล็อกนี้มีประโยชน์ช่วยเม้นให้ด้วยนะ หรือ ถ้าหากจะต้องการเนื้อหาอะไรก็โพสได้นะครับ ยินดีเสมอครับ

วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สรุปเหตุการณ์ Irtidad ในสมัย เคาะลีฟะ อบูบักร

            





โดยอาจารย์ รอฟลี แวมะ อาจารย์ประจำคณะวิทยาลัยอิสลามศึกษา ชำนาญการด้านประวัติศาสตร์อิสลาม โดยเฉพาะ


      หลังจากที่ท่านนบีเสียชีวิต ความขัดแย้งในการเลือกผู้นำหรือคอลิฟะฮฺได้เกิดขึ้นระหว่างชาว Ansar และ Muhajirin หรืออีกนัยหนึ่งระหว่างเผ่ากุร็อยซฺและชาวอาหรับเผ่าอื่นๆ ซึ่งสุดท้ายจบลงโดยการเลือกท่าน Abu Bakr เป็นคอลิฟะฮฺ แน่นอนที่สุด ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำหรือคอลิฟะฮฺก็ตาม จากเผ่าหรือตระกูลไหนก็แล้วแต่ ไม่สามารถทดแทนท่านนบีได้ ทั้งในแง่ความเป็นผู้นำทางศาสนาและการปกครอง ความขัดแย้งระหว่างเผ่าและตระกูลนั้น ได้เริ่มจุดประกายวิญญาณแห่งเผ่านิยมและตระกูลนิยมเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ท่านนบีได้พยายามสลายความเป็นเผ่านิยมแห่งญาฮิลิยะฮฺด้วยความภารดรภาพแห่งอิสลาม      

อาหรับบางเผ่าไม่เห็นด้วยกับการขึ้นมาเป็นคอลิฟะฮฺของเผ่ากุร็อยซฺหลังจากท่านนบี ทั้งนี้พวกเขาคิดว่า การขึ้นมาเป็นผู้นำของเผ่ากุร็อยซฺนั้นหมายถึงการสร้างอาณานิคมและอำนาจทางการเมืองของเผ่ากุร็อยซฺโดยใช้ศาสนาอิสลามมาครอบงำชาวอาหรับเผ่าอื่นๆ   รัฐบาลที่มี Abu Bakr เป็นคอลิฟะฮฺนั้น มิใช่เป็นรัฐบาลแห่งอิสลาม หากแต่เป็นรัฐบาลของชาวกุร็อยซฺ ความคิดดังกล่าวนี้ได้แพร่หลายอย่างรวดเร็วในเผ่าต่างๆ ทั่วแหลมอาราเบีย ทำให้ชาวอาหรับบางเผ่าปฏิเสธที่จะภักดีต่อรัฐบาลอิสลามแห่งมะดีนะฮฺ  บางเผ่าลุกขึ้นมาต่อต้านและแข็งข้อต่อรัฐบาลแห่งมะดีนะฮฺ บางเผ่าประกาศถอนตัวออกจากการเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลมะดีนะฮฺพร้อมๆ กับการถอนตัวจากการเป็นอิสลามิกภาพ  บางเผ่าก็ยอมที่จะภักดีต่อรัฐบาลมะดีนะฮฺ แต่ปฏิเสธที่จะจ่ายซะกาต โดยให้เหตุผลว่า ซะกาตนั้นเป็นทรัพย์สินที่ให้แก่ท่านนบี และท่านนบีเท่านั้นที่มีสิทธิ์เรียกเก็บซะกาต  เพราะคำขอพร (ดุอาอฺ) ของท่านเท่านั้นเป็นที่มั่นใจที่จะได้รับการตอบสนอง โดยพวกเขาได้อ้างหลักฐานจากอัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อัตเตาะบะฮฺ อายะฮฺที่ 103 ความว่า เจ้าจงเอาบางส่วนจากทรัพย์สินของพวกเขามาเป็นทาน ซึ่งเจ้าจะทำความสะอาดแก่พวกเขาและปลดเปลื้องพวกเขาด้วยกับทานนั้น และเจ้าจงขอพรแก่พวกเขา แท้จริงการขอพรของเจ้านั้น จะทำความสงบมั่นแก่พวกเขาและอัลลอฮฺทรงไพศาล อีกทั้งทรงรอบรู้ยิ่ง”   ที่เลวร้ายกว่านั้น มีอาหรับบางเผ่ากล้าที่จะเชิดชูผู้นำของพวกเขาโดยแอบอ้างเป็นศาสดาอย่างเปิดเผยพร้อมกับโฆษณาชักชวนและบีบบังคับให้เผ่าอื่นๆ ยอมรับและภักดีต่อพวกเขา

            เหตุการณ์ปั่นป่วน และวิกฤติการอันเลวร้ายที่เกิดขึ้นในสมัยอบูบักรฺนี้ นักประวัติศาสตร์รู้จักในนามเหตุการณ์อิรติดาด ( Irtidad )  ไฟแห่งอิรติดาดลุกอย่างโชกโชนและลุกลามยังเผ่าต่างๆ ทั่วคาบสมุทรอาราเบียอย่างรวดเร็ว จนกล่าวได้ว่าในเวลานั้น รัฐอิสลามจำกัดอาณาเขตเหลืออยู่เพียงแค่เมืองมะดีนะฮฺ เมืองมักกะฮฺ เมืองตออิฟ (Taif) และที่อยู่ของเผ่าอับดุลก็อยซฺเท่านั้น ที่ยังคงภักดีต่อรัฐบาลอิสลามแห่งมะดีนะฮฺ และยังมั่นคงต่อศาสนาอิสลาม ชาวเมืองมะดีนะฮฺถึงแม้ว่าสามารถปกป้องตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการอิรติดาดได้สำเร็จก็ตาม แต่ว่ากลิ่นไอแห่งการนิฟาก (มุนาฟิก) ได้ทวีแรงมากขึ้น  ส่วนชาวเมืองมักกะฮฺเองเริ่มแรกดูเหมือนว่าจะตกเป็นเหยื่อของการอิรติดาดเหมือนกับเมืองอื่นๆ แม้แต่ท่าน Attab b. Asid ข้าหลวงแห่งเมืองมักกะฮฺที่ได้รับแต่งตั้งจากท่านนบีจะต้องหลบซ่อนตัวเป็นการชั่วคราวเพราะกลัวจะถูกกระทำร้ายจากชาวเมืองมักกะฮฺที่ไม่พอใจต่อรัฐบาลมะดีนะฮ อย่างไรก็ตามสถานการณ์กลับกลายดีขึ้นเมือท่าน Suhail b. Amr ได้ลุกขึ้นมาปราศัยข่มขู่ผู้ที่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์นี้ว่า เหตุการณ์นี้ไม่มีผลกระทบอะไรนอกจากพลังความเข้มแข็งในอิสลามมากขึ้น ถ้าหากฉันเห็นผู้ใดถอนตัวจากการเป็นมุสลิม (มุรตัด) แน่นอนที่ฉันจะตัดหัวพวกเขาเสียพร้อมกันนั้นท่าน Suhail ได้ให้กำลังใจแก่ผู้ที่มั่นคงต่ออิสลามโดยยกคำพูดของท่านนบีในตอนหนึ่งความว่า แน่นอนที่สุดศาสนาอิสลามจะสมบูรณ์ด้วยเงื้อมมือของพวกท่าน “  เหตุผลที่สำคัญประการหนึ่งที่ชาวมักกะฮฺไม่เป็นมุรตัดและยอมภักดีต่อรัฐบาลอิสลามแห่งมะดีนะฮฺนั้น ก็เพราะว่าอบูบักรฺเป็นคอลิฟะฮฺ ซึ่งดั้งเดิมมาจากชาวมักกะฮฺและเป็นเผ่ากุร็อยซฺเหมือนกับพวกตน ส่วนเผ่า Saqif ในเมืองตออิฟนั้น เริ่มแรกต้องการจะถอนตัวจากรัฐบาลอิสลามเช่นเดียวกัน แต่สุดท้ายต้องยุติความตั้งใจเมื่อท่าน Osman b.Abi al-As ข้าหลวงแห่งเมืองตออิฟได้ลุกขึ้นมาปราศัยอย่างแข็งกร้าวไว้ว่า โอ้บรรดาชนเผ่า Saqif เอ๋ย ! พวกเจ้านั้นเป็นกลุ่มสุดท้ายสุดที่เข้ารับอิสลาม พวกเจ้าอย่าได้เป็นกลุ่มแรกที่ถอนตัวจากศาสนาอิสลาม (เป็นมุรตัด) เลย !!!”   ชนเผ่า Saqif เข้ารับอิสลามหลังจากปราชัยในสงคราม Hunain (หลังจากพิชิตมักกะฮฺแล้วอาจกล่าวได้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ชนเผ่า Saqif ยังคงยึดมั่นต่ออิสลามและยอมภักดีต่อรัฐบาลอิสลามมะดีนะฮฺนั้น ก็เป็นเพราะว่าความมั่นคงต่ออิสลามของชาวมักกะฮฺ ทั้งนี้เพราะว่าชนเผ่า Saqif ในตออิฟนั้น มีความสัมพันธ์ทางเชื้อสายและเครือญาติกับชาวมักกะฮฺอย่างใกล้ชิด เมื่อชาวมักกะฮฺก้มหัวภักดีต่อรัฐบาลมะดีนะฮฺ ชาวตออิฟก็คล้อยตามไปด้วย
            ท่านอบูบักรฺและบรรดาศอหาบะฮฺต่างก็มีความหวั่นวิตกเกี่ยวกับชะตากรรมของศาสนา            และรัฐอิสลามซึ่งตกอยู่ในสภาพที่อันตรายและล่อแหลมต่อความอยู่รอดเป็นอย่างมาก แม้แต่เผ่าเล็กเผ่าน้อยที่อยู่รอบๆ เมืองมะดีนะฮฺกล้าที่ก่อกบฏและจูโจมเมืองมะดีนะฮฺ หลังจากที่พวกเขาผิดหวังในการส่งตัวแทนเข้ามาเจรจาให้ยกเลิกการจ่ายซะกาต  ท่านอบูบักรฺประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า ฉันจะทำสงครามกับบุคคลที่แยกหลักการซะกาตออกจากหลักการละหมาด ”  พวกเขาถือโอกาสจู่โจมเมืองมะดีนะฮฺในช่วงที่เมืองมะดีนะฮฺขาดกองกำลังทหาร ทั้งนี้เพราะในช่วงนั้นท่านอบูบักรฺได้ส่งกองทัพ  อิสลามซึ่งนำโดย Usamah ไปยังซีเรียตามเจตนารมณ์ของท่านนบี ท่านอบูบักรฺต้องจัดกำลังตระเวณยามรอบๆ เมืองมะดีนะฮฺเพื่อประคับประคองและถ่วงเวลารอการกลับมาของกองทัพ Usamah 
         
เมื่อกองทัพของ Usamah กลับมาจากซีเรียและสู่นครมะดีนะฮฺอย่างปลอดภัย ท่านอบูบักรฺได้สั่งให้เหล่าพลของ Usamah พักผ่อนฟื้นฟู่พละกำลังใหม่เพื่อเผชิญหน้ากับกลุ่มอิรติดาดต่อไป เมื่อคำนึงถึงอันตรายต่อศาสนา และความล่อแหลมต่อความอยู่รอดของรัฐอิสลามที่พึ่งเกิดขึ้นใหม่นี้  ท่าน อบูบักรฺ จำเป็นจะต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาดในการใช้กำลังทหารเข้าไปปราบปรามและขจัดเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างรีบด่วน โดยการจัดกองทัพจำนวนรี้พลถึง 11 กองพลใหญ่ ภายใต้การนำของแม่ทัพกองดังนี้
1.             khalid B. Al-Walid  ถูกส่งไปปราบกลุ่ม Tulayhah B. Khuwaylid  จากเผ่า Asad เมื่อเสร็จแล้วให้เคลื่อนทัพไปยังเผ่า Tamim เพื่อปราบ Malik B. Nuwairah และพรรคพวกต่อ
2.             Ikrimah B. Abi Jahal  ถูกส่งไปยังแคว้น Yamamah  เพื่อปราบ Musaylamah
3.             Syurahbil B. Hasanah ถูกส่งไปเป็นกองหนุนของ Ikrimah B. Abi Jahal
4.             Al-Muhajir B. Abi Umayyah ถูกส่งไปยังมณฑล Yaman และ Kindah
5.             Khalid B. Sa’id B. Al-As  ถูกส่งไปยังไปยังเขตแดน Syria
6.             Amr B. Al-As ถูกส่งไปยังเผ่า Qudha’ah
7.             Huzaifah B. Mihsan ถูกส่งไปยังเมือง Duba แค้วน Oman
8.             Arfajah B. Harthamah ถูกส่งไปยังมณฑล Mahrah
9.             Tarif B. Hijaz Al-Harithi ถูกส่งไปยังเผ่า Sulaym และเผ่า Hawazain
10.      Suwaid B. Muqarrin Al-Muzani ถูกส่งไปยัง Tihamah
11.      Al-Ala’ B. Al-Hadrami ถูกส่งไปยังมณฑล Bahrain

            ก่อนที่กองทัพอิสลามจะเคลื่อนพลไปยังกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ท่าน Abu Bakr ได้ส่งทูตพร้อมกับสาส์นของท่านไปยังหัวหน้ากลุ่มกบฏ และกลุ่มมุรตัดในแค้วน และมณฑลต่างๆ เพื่อตักเตือน และชักชวนให้กลับตัวมาเป็นมุสลิมที่ดี และภักดีต่อรัฐบาลอิสลามมะดีนะฮฺใหม่ ใจความในสาส์นนั้นนอกจากเริ่มด้วยพระนามของพระเจ้า  และรำลึกถึงการเสียชีวิตของท่านนบีแล้ว Abu Bakr  ได้เขียนไว้ว่า
 “ ข้าได้ข่าวว่า มีคนบางกลุ่มในหมู่พวกเจ้าเป็นกบฎ และมุรตัด  อัลกุรอานได้พูดถึงผู้ที่ถูกหลอกลวงด้วยอารมณ์ใฝ่ต่ำ  ปฏิบัติตามมารร้าย  และหยิ่งยะโส โอหังต่อพระเจ้า ไว้ว่า และเมื่อครั้งที่เราได้รับสั่งแก่มลาอิกะฮฺว่า พวกเจ้าจงน้อมคารวะต่ออาดัมเถิด ! พวกเขาก็น้อมคารวะเป็นอย่างดี ยกเว้นเพียงอิบลิส มันเป็นส่วนหนึ่งของญีน  ดังนั้นมันจึงทรยศต่อคำบัญชาแห่งองค์อภิบาลของมันเอง แล้วพวกเจ้าทั้งหลายยังจะยึดเอามันและผู้สืบตระกูลของมันมาเป็นมิตร โดยละเลยต่อข้ากระนั้นหรือ? และที่พวกมันเป็นศัตรูของพวกเจ้า เป็นการแลกเปลี่ยนที่ชั่วช้าที่สุดสำหรับพวกที่ฉ้อฉลทั้งมวล[1] แท้จริงมารร้ายนั้น เป็นศัตรูของพวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าจึงยึดถือมันเป็นศัตรูเถิด อันที่จริงมันจะเชิญชวนสมาชิกของมัน เพื่อพวกเขาจะได้เป็นเจ้าของแห่งเปลวเพลิงนรกเป็นที่สุด[2] ข้าได้ส่งกองพลหนึ่งประกอบด้วยชาว Muhajirin ชาว Ansar   และชาวผู้ศรัทธาอื่นๆ   ซึ่งนำทัพโดย…(ชื่อแม่ทัพ)…….มายังพวกเจ้า  ข้าได้สั่งพวกเขาไว้ว่า พวกเขาจะไม่ทำสงครามกับใคร หรือสังหารใครจนกว่าจะเรียกร้อง ชักชวนศัตรูของเขาไปสู่หนทางของอัลลอฮฺก่อน  ใครก็ตามที่ตอบรับคำชักชวนของเขาและกลับตัวเป็นมุสลิมใหม่  เขาผู้นั้นจะได้รับการปฏิบัติดี    แต่ถ้าใครหันหลังต่อคำชักชวนของเขา เขาจะทำสงครามกับผู้นั้นจนถึงที่สุดตามกฎเกณฑ์ของสงคราม ถึงแม้ว่าจะต้องลุยไฟก็ตาม  ผู้ที่ปฏิเสธต่ออิสลามทุกคนจะเป็นเหยื่อสงคราม ยกเว้นเด็กๆ สตรีและคนชรา  น่าสรรเสริญยิ่งสำหรับผู้ตอบรับคำชักชวนของเขา มิฉะนั้นแล้ว พึงทราบไว้เถิดว่า พระองค์อัลลอฮฺนั้นทรงเกรียงไกรเสมอ  ทูตของข้าจะเป็นผู้ประกาศคำสั่งนี้  เขาเริ่มคำประกาศด้วยการอ่านอะซาน  พวกเจ้าจงให้เกียรติกับเสียง อะซาน  ผู้ใดที่ตอบรับคำชักชวนของข้าจงมาบอกชื่อเพื่อจะบันทึกในบัญชีรายชื่อต่อไป

นักประวัติศาสตร์ถือว่า คำประกาศของท่านอบูบักรฺฉบับนี้เป็นคำประกาศ และเป็นคำสั่งฉบับแรกของผู้ดำรงอยู่ในตำแหน่งคอลิฟะฮฺที่ประกาศสู่สาธารณชน นอกจากนี้ ก่อนที่กองทัพจะพากันเคลื่อนพล ท่าน Abu Bakr  ได้มอบสาส์นโอวาทแก่แม่ทัพทั้ง 11 กอง ซึ่งเนื้อหาในสาส์นโอวาทมีดังนี้
จากคอลิฟะฮฺของท่านรซูล ถึงแม่ทัพ……(ชื่อแม่ทัพ)………….ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นแม่ทัพในสงครามปราบกลุ่มมุรตัด  ต่อไปนี้คือคำสั่งเฉพาะที่จะต้องยึดถือและปฏิบัติในระหว่างสงคราม
1.             จงเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺในทุกอิริยาบทของท่าน ไม่ว่าในที่ลับและเปิดเผย
2.             จงตั้งใจจริงในสงคามเพื่ออัลลอฮฺ และจงทำสงครามกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์อัลลอฮฺ
3.             ก่อนเปิดฉากสงคราม เจ้าจงชักชวนพวกเขามาสู่อิสลามก่อน ผู้ที่ตอบรับคำชักชวนจะได้รับการคุ้มครอง สำหรับผู้ปฏิเสธแล้วจะได้รับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสงคราม
4.             ในสมรภูมิสงครามจะต้องแจ้งสถานการณ์ทุกอย่างให้กองพลทราบอย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพได้เปรียบหรือเสียเปรียบก็ตาม เผื่อว่าจะไม่เป็นข้อครหาแก่เจ้าต่อไป
5.             จงอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่น้อมรับคำบัญชาของพระเจ้า และทำสงครามกับผู้ปฏิเสธ
6.             ถ้าหากมีผู้ใดที่อ้างว่าตอบรับอิสลามอย่างลับๆ ในใจ  ให้ถือว่านั้นคือเรื่องเขาระหว่างพระเจ้า และมอบการตัดสินให้พระเจ้าเสีย
7.             จงส่งหนึ่งในห้าส่วนของทรัพย์สินที่ได้จากสงครามมายังกองคลังของรัฐ (Baytu’l-Mal)  ที่เหลือจงแบ่งกันระหว่างกองพลมุสลิมอย่างยุติธรรม  จงพึงระวังสิทธิของแต่ละคนในทรัพย์สินสงคราม
8.             จงปฏิบัติดีต่อมุสลิมทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพใดก็ตาม และติดตามดูแลพวกเขาอย่างใกล้ชิด จงพยายามปลูกฝังความรักและความเมตตาในหมู่พวกเขา      


[1]  ความหมายอัลกุรอาน 18: 50
[2] ความหมายอัลกุรอาน  35: 6

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น